เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
การเมืองไร้ทางออก ฉุดเศรษฐกิจซึม 2-3 ปี


 

ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 6 เดือน ในมุมมองของภาคธุรกิจต่างเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในอัตราที่ต่ำมาก

 

 

โดย นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ปัญหาการเมืองภายในประเทศ การแตกแยกทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกัน คงยังไม่จบลงง่ายๆ โดยสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้การบริโภคและการลงทุนของทั้งไทยและต่างประเทศลดน้อยลง ซึ่งคาดว่าการเมืองที่ถึงทางตัน จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยซึมลงต่อเนื่องอีก 2-3 ปี และโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งคงเป็นไปได้ยาก เพราะทางตันทางการเมืองไม่หมดลงง่ายๆ ซึ่งคงจะต้องหวังพึ่งแต่เพียงปาฏิหาริย์เท่านั้น 

และขณะนี้เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ติดลบ และมีโอกาสที่จีดีพีไตรมาส 2 จะติดลบต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาครัฐก็ทำไม่ได้ ขณะที่ภาคเอกชนไม่ลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีขีดจำกัด เพราะติดปัญหาทางการเมือง ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคตก็จะอยู่ไม่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์

นายวีรพงษ์ ยอมรับด้วยว่า ปัญหาการเมืองของไทยคงไม่สามารถจบลงได้ง่ายๆ เพราะหากมีการเลือกตั้งก็คงต้องมีการขัดขวางกันอีก หรือเลือกตั้งสำเร็จพรรคเดิมชนะก็คงไม่จบ หรือหากพรรคประชาธิปัตย์ชนะก็คงไม่จบ 

 
 
 
ด้าน นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บอกว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสติดลบหรือ เติบโตได้ดีที่สุดไม่เกิน 1%หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่เร็ว ๆ นี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 ซึ่งการเมืองที่ยืดเยื้อ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่กำลังขาดสภาพคล่อง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ไปกินส่วนแบ่งตลาดของเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน การเลิกจ้างจะมากขึ้น เพราะเอสเอ็มอีเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมาก

ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ มองว่า ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรืออาจจะลดลงประมาณ 5-10% เนื่องจากความต้องการซื้อบ้านยังมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะโครงการบ้านแนวราบ 

 
 
 
ส่วน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี และประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้ เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2-2.2% แต่หากไม่มีรัฐบาล เศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 1.5-1.6% แต่เชื่อว่าแม้จะเศรษฐกิจจะชะลอลง ก็จะไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 

 
 
 
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบ จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องล้มละลายลงทุกวัน ซึ่งตอนนี้ถือว่า ถึงจุดวิกฤติ  SMEs ทั่วประเทศ 2.7 ล้านราย ทยอยล้มไปราวแสนรายแล้ว ถ้าอีก 1-2 เดือน ยังไม่ได้ข้อยุติจะยิ่งเสียหายหนัก
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ค. 2557 เวลา : 09:32:49
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:28 am