ตอนที่ 15/2557: ความน่าเป็นห่วงของSMEและสัญญาณเตือนจากเครดิตบูโร (ตอนที่1/2)
บทความในวันนี้ ผมจะขอพูดถึงสถานการณ์ความน่าเป็นห่วงของ SME ซึ่งสามารถเห็นได้จากแนวโน้มของการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างให้เราจะต้องเริ่มระมัดระวังกันมากขึ้นแล้วละครับ
สาเหตุของปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ SME นั้น เริ่มต้นมาจากเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อลูกค้าลดลง รวมไปถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น SME จะต้องเจอกับปัญหารุมเร้าต่างๆ มากมาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปจนถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น พอผ่านปัญหาเหล่านั้นมา ก็ต้องมาเจอปัญหาทางการเมืองอีก ทำให้สินค้าที่เตรียมไว้ขายในช่วงเทศกาลปลายปีก็ขายไม่ออก เงินเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง กระแสเงินสดหมุนไม่ทัน สุดท้ายก็ส่งผลมาสู้การผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด
เมื่อสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้น สถาบันการเงินที่เคยปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายก็ย่อมอยากที่จะรู้ว่า ปัจจุบันลูกหนี้ของเขาเป็นอย่างไร มีหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ ยังจ่ายครบและตรงตามกำหนดอยู่หรือเปล่า โดยจะเห็นได้จากความถี่ที่สถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาเช็คดูข้อมูลของลูกค้า ซึ่งเรียกว่า การทำ Credit Review โดยแต่เดิมนั้นธนาคารไทยจะเข้ามาทำ Credit Review ปีละ 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทุกไตรมาส ส่วนธนาคารต่างประเทศ เขาจะดูข้อมูลลูกค้าทุกไตรมาส และมีบางแห่งที่จะดูทุกเดือน ส่วนธนาคารของรัฐจะดูปีละครั้ง
นอกเหนือจากการทำ Credit Review ของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นแล้ว ตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวคือ จำนวนบัญชีสินเชื่อนิติบุคคลที่เป็น SME นั้น จากข้อมูลในปี2555 บัญชีหนี้ดีที่ไม่มีการค้างชำระ จ่ายครบ จ่ายตรง มีการเติบโต13-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2556 นั้น ไม่มีการการเติบโตเลย เนื่องมาจาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือ
1.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้ ทำให้มีบัญชีใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อย
2.บัญชีที่เคยดีกำลังกลายเป็นบัญชีหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือเรียกว่า “หนี้ที่ต้องเฝ้าดูเป็นพิเศษ” ซึ่งในอดีตตัวเลขดังกล่าวไม่เคยโตเลย แต่ในไตรมาส 2 ของปี 2556 กลับโตขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ และ 35 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ เป็นการสะท้อนว่าโอกาสที่ SME จะผิดนัดชำระและจะกลายเป็นหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากสัญญาณต่างๆ ที่แสดงออกมาให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงของ SME ซึ่งทางเครดิตบูโรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะที่เราเห็นสัญญาณเหล่านี้ก่อนคนอื่นๆ โดยเราจะเห็นข้อมูลทุกเดือน แต่ว่าสถาบันการเงินจะเห็นข้อมูลทุกไตรมาส ดังนั้น เราจะต้องส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าไปถึงเขา เพราะ เครดิตบูโรเป็นสถาบันที่ต้องออกมาเตือนหรือสร้างสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า Early Warning เพื่อป้องกันหายนะทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เดือนมกราคม ธนาคาร Aส่งรายงานว่า มีหนี้กำลังจะเสีย 100 บัญชี พอมาเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 160 บัญชี ดูแล้วเริ่มมีอาการผิดปกติ ซึ่งอาจจะเริ่มเป็นที่ธนาคาร A นี้ก่อน ธนาคารอื่นๆ อาจจะยังไม่เป็น พอเราเห็นตรงนี้ เราก็ต้องเริ่มเดินสายพูดคุยเพื่อบอกธนาคารอื่นๆ ว่าขณะนี้เริ่มมีสัญญาณแปลกๆ มาแล้วนะ ให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น การออกไปเตือนเพื่อให้เขารู้ตัวก่อน ก็สามารถช่วยให้เขาสร้างมาตรการคุ้มกันต่างๆ ออกมาได้
ในบทความครั้งหน้า เราจะมาพูดกันในเรื่องว่า นอกเหนือจากการที่สถาบันการเงินจะมาเช็คลูกค้าSME แล้ว ผู้ประกอบการก็มีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตนเองเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการเช็คสุขภาพทางการเงินของตนเองด้วยครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น