การตลาด
สกู๊ป "สมาคมผู้ค้าปลีกไทย" ออกโรงกระตุ้นรัฐ เปิดร้านดิวตี้ฟรี


 
 
จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องออกมาเปิดแผนกระตุ้นภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกกันเป็นระยะๆ  เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น หลังจากพบว่าปี 2556 มีประมาณการยอดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึงกว่า 26 ล้านคน

 
 
 
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมีศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมพักผ่อนกลางแจ้งอีกมากมาย ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนประเทศไทยดังกล่าว ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งร้านอาหาร โรมแรม และสปา เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติปี 2556 พบว่า นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนมากถึง 4,437 บาทต่อวัน จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศจะได้รับผลดีจากการมีเม็ดเงินหมุนเวียนดังกล่าวไปด้วย

 
 
 
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า หากมองย้อนกลับในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมค้าปลีกไทยฯ ได้มีการยื่นข้อเสนอแก่ภาครัฐ พิจารณาปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคนให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวเหลือ 0% เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายกับสินค้าหมวดเหล่านั้นเป็นการนำร่อง เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศในเอเชีย และประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ จีน

จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมการจับจ่ายและช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม จึงทำให้กลุ่มสินค้าดังกล่าวได้รับอานิสงส์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นอย่างดี  แต่จากสินค้าหมวดดังกล่าวยังมีกำแพงแพงภาษีนำเข้าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ จึงทำให้สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมในประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากมีราคาขายที่สูงกว่า และความหลากหลายน้อยกว่า 

 
 
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันการลดกำแพงภาษีสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมนำเข้าให้เหลือ 0-5% เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการแข่งขัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ควรสร้างจุดที่มีความแตกต่างเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มสิ่งดึงดูดกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว   

อย่างไรก็ดี แม้ว่าขณะนี้หลายภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง จะออกมาแสดงความเห็นถึงการเปิดร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) แทนการลดภาษีนำเข้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งทางออกที่ดีและเป็นประโยชน์ เพราะจะเป็นการดึงดูดนักช้อปต่างชาติและกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่จะดำเนินการปฏิบัติ เนื่องจากการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) มีข้อปฏิบัติและระเบียบมีขั้นตอนมาก อีกทั้งการบริหารเชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ควรเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการหลายราย เพื่อนักท่องเที่ยวมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสัมปทานให้แก่ผู้ประกอบการรายเดียวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว นายฉัตรชัย จึงได้ยื่นข้อเสนอเหตุผลต่อภาครัฐจำนวน 5  ข้อ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกโลเกชั่นในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น  
 
2.เสนอการเปิดร้านค้าปลอดอากรขายสินค้าผ่าน pick – up counter  ที่สนามบินเพิ่มขึ้น ไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม  และอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าที่ต้องการรับสินค้าที่สนามบิน ( pick – up counter ) โดยภาครัฐควรเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีความชำนาญที่สนใจเข้าประมูลแข่งขันเพื่อมาดำเนินการบริการส่งมอบสินค้า

3.ส่งเสริมให้มีการเปิดร้านปลอดอากรขาออกในเมือง (Duty Free Shop) ภายในประเทศโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น  
 
4.ควรปรับปรุงระเบียบขั้นตอนปฎิบัติของกรมศุลกากร ให้เอื้ออำนวยต่อการเปิดดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง (Duty Free Shop) โดยมีวิธีปฎิบัติการ ของร้านค้าปลอดอากรที่มีรูปธรรมที่ชัดเจน  
 
และ 5.อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง (Duty Free Shop)  โดยสามารถนำสินค้าติดตัวไปได้ เพียงแสดงเอกสารตามกฎระเบียบของศุลกากรที่เคาน์เตอร์ศุลกากรภายในสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกกระตุ้นการใช้จ่าย อีกทั้งส่งผลให้สินค้าไทยมีแนวโน้มการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถทำระบบแบบ VAT Refund เหมือนประเทศในทวีปยุโรป

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีหลายกลุ่มทุนที่สนใจขยายธุรกิจด้านร้านค้าปลอดอากร เช่น บริษัท ล๊อตเต้ (Lotte) ผู้นำธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับหนึ่งในประเทศเกาหลี  ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานร้านค้าปลอดภาษีตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านปลอดอากรในประเทศไทย   เพื่อรองรับความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
 

 
 
ปัจจุบัน ประเทศไทยพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงพร้อมแก่การเปิดธุรกิจด้านร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ได้หลายแห่ง เช่น เมืองภูเก็ต เนื่องจากภูเก็ตเป็นเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวของโลกแห่งหนึ่งเช่นกัน ทั้งยังได้รับการโหวตจากสื่อและนักท่องเที่ยวทั้งโลกให้เป็นจุดหมายในการเดินทาง โดยในแต่ละปีมีอัตราของนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ซึ่งล่าสุดในปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนภูเก็ตกว่า  11 ล้านคน ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้มีการเปิดร้านปลอดอากร (Duty Free) ภูเก็ตจึงเป็นหนึ่งพื้นที่ทีเหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

นายฉัตรชัย กล่าวปิดท้ายว่า หากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการเติบโตแบบยั่งยืน ควรมีมาตรการสนับสนุนการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการดึงดูดนักช้อปจากทั่วโลกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย เพราะหากมองในด้านของความพร้อมประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน  

ดังนั้นหากภาครัฐสามารถเพิ่มมาตรการเปิดรับร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาช้อปปิ้งในประเทศไทยได้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่มีศักยภาพ ไม่แพ้ ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ จากแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้หลายภาคธุรกิจ ทั้งกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธุรกิจบริการ โรงแรม สปา ขนส่งมวลชน ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาจับจ่ายและท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย   

แต่หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายลดภาษีนำเข้า ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้มหาศาล ทั้งที่ควรจะมีรายได้จากการการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน และจากการที่ประเทศจีนได้ออกกฎหมายว่าด้วยการเดินทางท่องเที่ยวฉบับใหม่ ส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ส่งผลให้ภาคเอกชนมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนและภาครัฐจะช่วยกันดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่ใช่เพียงประเทศจีนประเทศเดียวให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องร่วมกันทำกิจกรรมการตลาด เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อในระดับไฮเอ็นท์ด้วยการใช้ร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) เป็นตัวขับเคลื่อน  

 
 

LastUpdate 16/05/2557 17:01:26 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:17 am