ไอที
แอพฯเด็ดวันนี้ ..... มือถือตรวจ "อัลไซเมอร์"


 

 
ที่ผ่านมามีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งานบนอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากมาย รวมถึงแอพฯด้านสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพหรือตรวจโรคเบื้องต้น ตัวอย่างเช่น แอพฯตรวจมะเร็งเต้านม “iBreastCheck” และ “Doctor Me” ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย  โดยเกิดจากความร่วมมือของสถาบัน ChangeFusion และบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด และมีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุน มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้มือถือตรวจสุขภาพด้วยตนเอง ล่าสุดมีผลงานใหม่เพิ่มมาอีกเป็นแอพฯ เพื่อใช้ตรวจโรคสมองเสื่อม “อัลไซเมอร์”
 
แอพฯใหม่เป็นผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อใช้ตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว เป็นเครื่องมือช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงาน
 
แอพฯใหม่ที่ว่านี้ ได้แก่  แบบประเมินหรือแบบคัดกรองอัลไซเมอร์ฉบับย่อที่เรียกว่า Brief Alzheimer Screening (BAS) และ แบบทดสอบวาดภาพนาฬิกา Clock Drawing Test  ซึ่งแบบประเมินทั้ง 2 แบบนี้ใช้ได้สะดวกและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้วโดยแพทย์ หรือบุคลากรทางสาธารณสุขทั่วไป สามารถใช้ได้ทั้งอุปกรณ์ระบบ iOs  และ Android  
 
 
 
 
แอพฯใหม่จะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจและแปลผลได้ทันทีจากโปรแกรมการคำนวณ ขณะเดียวกันยังสามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงของผู้สูงอายุที่มารับการตรวจ  เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสม รวมถึงเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้ที่มารับการตรวจ เพื่อใช้สำหรับติดตามการรักษาหรือเพื่อวางแผนสำหรับศึกษาวิจัยในอนาคตได้อีกด้วย
 
ข้อดีของแอพฯนี้ คือ แพทย์และบุคลากรการแพทย์สามารถนำไปใช้ดูแล ประเมินผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ในพื้นที่ห่างไกล
 
 
 
 
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เปิดเผยว่า TCELS ให้การสนับสนุนการทำแอพพลิเคชั่นของมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากแอพฯคัดกรองสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยเมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงแอพฯที่ช่วยผู้เชี่ยวชาญตรวจ โดยร่วมกับ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ คณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ   
 
 
 
 
ผู้สนใจจะใช้แอพฯใหม่นี้สามารถติดตามข่าวสารเพื่อเข้ารับการอบรมกับทาง TCELS ได้ ก่อนจะมีการเปิดตัวแอพฯอย่างเป็นทางการใน “งานสร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 6”  ราวเดือนกันยายน ซึ่งปีนี้จะจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ค่ายฝึกสมอง” หรือ Brain Boost Camp
 
ในอนาคตอาจจะได้เห็นแอพฯใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะ TCELS มีแผนจะพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ ให้ครบวงจร รวมถึงแอพฯเพื่อส่งเสริมการรับรู้และการคิดของผู้สูงอายุ
 
 
 
 
สำหรับ “โรคอัลไซเมอร์” มาทำความรู้จักกันสักนิดว่า เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีการเสื่อมของเซลล์สมองทุกส่วน เป็นแล้วไม่มีวันหาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่สามารถแยกถูกผิด มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด 
 
ในสหรัฐประมาณว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้กว่า 3-4 ล้านคน และจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก เนื่องจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น กล่าวคือจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี หลังอายุ 60 ปี
 
ปัจจัยเสี่ยง คือ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเป็นมากดังกล่าว โดยพบว่า ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอายุ 85 ปี เป็นโรคนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงมาจากการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำได้ การรักษาความดันจะทำให้ความจำดีขึ้น
 
ส่วนเรื่องกรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เพราะหากอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ก็จะโอกาสเป็นมากขึ้น และที่ผ่านมามีการศึกษาประเด็นพันธุกรรมก้าวหน้าขึ้น  เช่น พบว่า ความผิดปกติของยีน (gene) ที่สร้าง amyloid precursor protein จะทำให้ได้โปรตีนที่ผิดปกติและทำให้เกิดตะกอนที่เรียกว่า amyloid plaques ในเนื้อสมอง และผู้ที่มี gene บนโครโมโซมที่ 19 ชนิด Apolipoprotein E4 จะมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนปกติ เป็นต้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2557 เวลา : 21:20:40
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 6:39 am