บลจ.กรุงศรี เสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M94 (KFFIX6M94) อายุประมาณ 6 เดือน เสนอขายวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2557 ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท จ่ายผลตอบแทนประมาณ 2.70% ต่อปี
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด หรือ KSAM เปิดเผยว่า “บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M94(KFFIX6M94) อายุประมาณ 6 เดือน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร China Construction Bank (สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China (Asia) (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Bank of East Asia (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Agricultural Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10% และตั๋วแลกเงินออกโดยบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10% ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.70% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป”
“ในส่วนของภาวะตลาดตราสารหนี้โลกนั้น ราคาตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น และอัตราผลตอบแทนปรับลดลงร้อยละ 0.0 – 0.12 โดยที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อายุ 10 ปีลดลงแตะร้อยละ 2.50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ทางด้านยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ในเดือนเมษายน หลังจากอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ในเดือนมีนาคม สำหรับจีดีพีของยูโรโซนในไตรมาสแรกของปีนี้โตร้อยละ 0.2 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยเศรษฐกิจเยอรมนีและสเปนขยายตัวมากกว่าที่คาด ในขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสทรงตัวและเศรษฐกิจอิตาลีกลับมาหดตัวอีกครั้ง ด้านจีดีพีของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 5.9 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 และโตมากกว่าที่ตลาดคาด โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภครีบจับจ่ายใช้สอยก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีในเดือนเมษายน ในส่วนของภาวะตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ นักลงทุนให้การตอบรับการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 25 ปี เป็นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงร้อยละ 0.00 – 0.09” นายฉัตรพี กล่าว
ข่าวเด่น