ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 57 ลงเหลือ 1.5-2.5% ต่ำกว่าการขยายตัว 3.0-4.0% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 ก.พ.57
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ จากการที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรก ติดลบ 0.6% และการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี ยังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และมีแนวโน้มที่การจัดตั้งรัฐบาลต้องล่าช้าออกไปกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม จึงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของรายจ่ายภาครัฐและการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญๆ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการจัดเตรียมงบประมาณประจำปี 2558
ซึ่งเหตุผลหลักในการปรับประมาณการในครั้งนี้มี 3 ประการ คือ (1) ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้เดิม ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 57 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวในปี 57 มีจำนวน 27.0 ล้านคน ลดลงจากสมมติฐาน 27.5 ล้านคน ในการประมาณการครั้งก่อน
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วง 1.9-2.9% ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการขาดดุล 0.6% ในปี 56
สศช.ยังปรับลดการส่งออกสินค้า โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.7% ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 5.0-7.0% โดยปรับลดทั้งปริมาณการส่งออกเป็นเพิ่มขึ้น 4.2% จากที่คาดไว้เดิม 4.0-6.0% และราคาสินค้าส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มลดลง 1.0-0.0% ต่ำกว่าสมมติฐานการเพิ่มขึ้น 1.9-2.9% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า เมื่อรวมกับการปรับลดสมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 3.6% ต่ำกว่า 6.0% ในการประมาณการครั้งก่อน
ด้านผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ยอมรับว่า มีโอกาสค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจไทย จะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิค หรือ Technical Recession เนื่องจากจีดีพีไตรมาสสองมีโอกาสติดลบ ภายหลังการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสภาพัฒน์ฯ ที่ล่าสุด ติดลบไป 2.1%
โดยโอกาสที่จีดีพีจะติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน มาจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสสอง ที่อาจจะขยายตัวได้ไม่มาก เนื่องจากไตรมาสสอง เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการส่งออกไทย
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อไม่สามารถหาทางออกในการมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งหากภาคการส่งออกยังไม่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า อาจต้องมีการทบทวนปรับลดประมาณการอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 อยู่ที่ 1.8% (กรอบคาดการณ์ 1.3-2.4% ) เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความล่าช้าในการฟื้นตัวของการส่งออก ส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 หดตัวลงถึง 2.1% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ข่าวเด่น