แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงศรีฯ" สั่งคุมเข้มปล่อยกู้รายย่อย คัดเข้มความเสี่ยง หวั่นหนี้เสียพุ่ง


กรุงศรีตั้งป้อมสกัดหนี้เสียสินเชื่อรายย่อย หลังเศรษฐกิจซบเซาบีบหนี้เสียพุ่งแตะ 3% สั่งคุมเข้มอนุมัติสินเชื่อ-ตามหนี้ มั่นใจอยู่ในระดับรับมือได้ ไม่สาหัส หวังการเมืองจบ-เศรษฐกิจฟื้นเร็ววัน ดันสินเชื่อรายย่อยฟื้นตัวก่อน

 
 
 
 
นายฟิลิป แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สินเชื่อให้ชะลอตัวลงไปด้วยเช่นกัน รวมถึงทำให้แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อถูกกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งธนาคารกรุงศรีฯ เองก็เห็นภาพว่าคุณภาพสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายย่อยถูกกระทบทำให้หนี้เสียขยับเพิ่มขึ้นพอสมควรจากปลายปีที่แล้ว
 
สำหรับอัตราหนี้เสียของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3% นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มที่มีอัตราหนี้เสียสูงกว่า 3% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้านยังมีอัตราหนี้เสียค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป้าหมายของธนาคารก็จะพยายามคุมอัตราหนี้เสียโดยรวมไว้ในระดับ 2.5%
 
“เราไม่ได้มองว่าสถานการณ์ย่ำแย่รุนแรง ตอนนี้เป็นระดับที่รับมือได้ เพราะเราอยู่ในธุรกิจการเงิน มีความเสี่ยงก็เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับก็ยังถือว่าคุ้มค่า เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงสุด 20% ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลสูงสุดถึง 28% ก็สอดคล้องกันไปตามความเสี่ยง ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้อยู่เฉย เราพยายามคุมเรื่องคุณภาพสินเชื่อของลูกค้ารายใหม่และเพิ่มระดับการติดตามหนี้ของลูกค้ารายเดิมด้วย เพื่อพยายามรักษาระดับหนี้เสียเอาไว้”
 
นายฟิลิป แทน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการพิจารณาสินเชื่อรายใหม่ของธนาคารค่อนข้างเข้มงวดขึ้นจากเดิมพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหนี้เสียขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในช่วงนี้ชะลอลงจากประมาณ 40% ลงมาเหลือประมาณ 35% ซึ่งคาดว่าจะยังต้องระมัดระวังเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 6-12 เดือน
 
ส่วนแนวโน้มปัญหาหนี้เสียนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองเป็นหลัก หากสถานการณ์โดยรวมสามารถคลี่คลายลงได้เร็ว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา เชื่อว่าสินเชื่อรายย่อยน่าจะเป็น กลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ก่อน จากที่เคยเห็นสถานการณ์ที่เกิดปัญหาเช่น น้ำท่วมใหญ่ หรือปัญหาการเมืองในปี 2553 สินเชื่อรายย่อยจะถูกกระทบ แต่เมื่อเหตุการณ์จบ สินเชื่อกลุ่มนี้จะกลับมาได้ภายใน 3-6 เดือน ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยถึง 50% ของสินเชื่อรวม
 
ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ ซึ่งเดิมธนาคารตั้งเป้าหมายเอาไว้ 8-9% นั้น นายฟิลิป แทน ยอมรับว่า อาจจะขยายตัวลดลง โดยธนาคารจะประเมินจากจากการเติบโตของจีดีพีเป็นหลักว่า สินเชื่อควรจะขยายตัวเป็น 3 เท่าของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันที่มีการประเมินกันว่าจีดีพีอาจจะลดลงมาขยายตัวได้เพียง 1.5% ก็มองว่าสินเชื่ออาจจะขยายตัวได้ราว 4.5-5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าจะขยายตัวได้มากกว่านั้นถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะหมายถึงธนาคารสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งมาได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ค. 2557 เวลา : 17:48:52
24-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 24, 2024, 8:34 pm