ไอที
รู้ทันภัย..อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์


 

 
 
เมื่อเอ่ยชื่อ “ซัมซุง” บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก โดยเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลายอย่างและเป็นผู้นำผลิตสมาร์ทโฟนของโลกและเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ  อีกหลายด้าน  ธุรกิจมีทั้งผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน โทรศัพท์มือถือ และส่วนประกอบหลัก ๆ ที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ดิจิตอล มีฐานการผลิต 25 แห่ง มีสำนักงานย่อย 23 แห่งประจำอยู่ใน 46 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) และ 7 ทวีป คือ อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง จีน CIS และละตินอเมริกา   
 
อย่างไรก็ตาม “ซัมซุง” แม้ธุรกิจจะรุ่งเรือง แต่ยักษ์ใหญ่รายนี้ยังติดกับดักเบื้องหลังการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้เคมีอันตราย ส่งผลกระทบต่อพนักงานฝ่ายผลิตให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต  ดังนั้นในฐานะเราท่านทั้งหลายที่เป็นผู้บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันถึงอันตรายจากสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
 
 
 
 
เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆนี้ นายวอน โอฮยอน (Kwon Oh-hyun) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) ของบริษัทซัมซุง ได้ออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ กรณีที่มีพนักงานในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ของซัมซุงป่วยเป็นโรคลูคิเมียและโรคอื่นๆที่รักษาไม่ได้ เนื่องจากได้รับเคมีเป็นพิษจากการทำงาน ส่งผลให้เสียชีวิตไปในที่สุด โดยทางบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่พนักงานและครอบครัวทุกคน
 
นี่ถือเป็นการออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการครั้งแรกของบริษัทซัมซุง  หลังจากมีพนักงานคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคลูคิเมียตั้งแต่เมื่อปี 2007
 
 
 
 
ในขณะที่บริษัทเองได้แถลงผ่านอีเมล ขอโทษและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง โดยยอมรับว่า เคยมีพนักงานหลายคนต้องจบชีวิตไปหลังจากป่วยเป็นโรคลูคีเมียหรือที่รู้จักกันว่า “ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว” หรือหลังต่อสู้กับโรคร้ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ภายหลังจากทำงานในโรงงานผลิตและรู้สึกเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ไม่สามารถตรวจพบและได้รับการแก้ไขได้ทันการ
 
คำขอโทษดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อเรียกร้องจากหลายครอบครัวและกลุ่มผู้สนับสนุนปกป้องสิทธิคนทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  the Health And Rights of People in the Semiconductor Industry (SHARPS) group ที่ต้องการให้ซัมซุงจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานที่เคราะห์ร้าย
 
ทั้งนี้ SHARPS เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีเหยื่อเคราะห์ร้ายต้องจบชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดไปจำนวน 26 ราย ทั้งที่เป็นลูคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยพนักงานเหล่านี้ทำงานที่โรงงานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์กี-ฮุง และโรงงานออน-ยัง ซึ่งมี 10 คนเสียชีวิตในโรงงานเลย
 
ส่วนพนักงานรายที่มีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานอื่น ๆ มีหลากหลาย รวมถึง การแท้ง เป็นหมัน ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ผมร่วง อาการผิดปกติของเลือดและปัญหาโรคตับและไต
 
 
 
SHARPS ระบุ โรงงานดังกล่าวเป็นแหล่งอันตรายเพราะมีเคมีจำนวนหลายพันชนิดถูกนำมาใช้ในการผลิตชิพโดยไม่ได้มีการเปิดเผยให้พนักงานรู้ ในขณะที่สภาพแวดล้อมในการทำงานเองยังไม่เหมาะสม เช่น ห้องทำงานไม่สามารถกรองก๊าซพิษได้และยังถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่าเพื่อปกป้องพนักงาน นอกจากนี้ พนักงานยังถูกผลักดันให้ต้องไปปิดอุปกรณ์ป้องกันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้สามารถรักษาอัตราการผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ของบริษัท
 
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานของซัมซุงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ซึ่งเมื่อพนักงานฝ่ายผลิตมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ในการผลิตสินค้า อันตรายจึงย่อมส่งผลถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ชิปและชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่มีสารพิษเป็นส่วนประกอบที่คุ้นเคยกันดี เช่น  พวกโทรศัพท์มือถือ  แทบเล็ต แล็บท็อป  ฮาร์ดดิสก์  และทีวี  จะเห็นได้ว่า เป็นของใช้ใกล้ตัวทั้งสิ้น จึงไม่ควรประมาท
 
 
 
จากข้อมูลของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า  วัสดุหลายร้อยชิ้นในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกนั้นส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม และ เบริลเลียม และสารเคมีอันตรายอย่างอื่น เช่น สารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีน ที่รวมถึง polybrominated biphenyls (PBBs), polybrominated diphenylethers (PBDEs) , tetrabromobisphenol-A (TBBPA หรือ TBBA)และพลาสติกพีวีซี(PVC) ก็เป็นส่วนประกอบที่ใช้กันบ่อย ยกตัวอย่าง มือถือเครื่องเดียวมีชิ้นส่วนต่างๆ มากถึง 500-1,000 ชิ้นและสารที่เป็นอันตรายเหล่านี้ทำให้เกิดมลพิษร้ายแรง
 
 

 
 
 
เรามาดูกันว่า อันตรายจากสารเคมีในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง

 
-สารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีนที่ใช้ในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกต่างๆ เป็นสารที่ตกค้างยาวนานและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม การสัมผัสกับสารชนิดนี้เป็นเวลานานทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และความทรงจำสูญเสียไปได้ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนของต่อมไธรอยด์และเอสโตรเจน และหากสัมผัสกับตัวอ่อนในมดลูกอาจทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรม
 
-สารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีนที่เรียกว่า TBBPA จำนวนมากถึง 1,000 ตัน ถูกใช้เพื่อการผลิตโทรศัพท์มือถือ 674 ล้านเครื่องในปี 2004 สารเคมีชนิดนี้เป็นพิษต่อระบบประสาท
 
-หลอดภาพแบบ CRT ที่ใช้ในจอมอนิเตอร์ที่ส่งขายทั่วโลกในปี 2002 ประกอบด้วยตะกั่วประมาณ 10,000 ตัน ซึ่งการสัมผัสกับตะกั่วเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียความสามารถด้านสมองของเด็ก และทำลายระบบประสาท ระบบเลือด และ ระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่ได้
 
-ส่วนสารแคดเมียมที่ใช้ในแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ของคอมพิวเตอร์ และตามขั้วและสวิตช์ของจอ CRT แบบเก่า สามารถสะสมในสภาพแวดล้อมได้ และเป็นพิษสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไตและกระดูก
 
-สารปรอทซึ่งใช้ในอุปกรณ์ให้แสงสว่างในจอแบน เป็นตัวทำลายสมองและระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะในช่วงการพัฒนาระยะแรกของตัวอ่อน
 
-สารประกอบเฮ็กซาวาเลนต์โครเมียมซึ่งใช้ในการผลิตโครงสร้างเหล็ก (iron housing) เป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง
 
 
-สารโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นพลาสติกที่ใช้ในชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และใช้เพื่อทำเป็นฉนวนหุ้มสายไฟและสายเคเบิ้ลต่างๆ ในการผลิตและการเผาพลาสติก PVC (เผาในเตาหรือเผาแบบทั่วไป) จะทำให้เกิดสารไดออกซินคลอไรด์และสารฟิวแรนซึ่งตกค้างและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมยาวนาน และมีความเป็นพิษสูงแม้มีระดับความเข้มข้นที่ต่ำมาก
 
 

จะเห็นได้ว่า อันตรายอยู่ใกล้ตัวนี่เอง จึงต้องระมัดระวังในการใช้งานอุปกรณ์ทุกอย่าง

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 พ.ค. 2557 เวลา : 03:08:38
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 6:54 am