ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศยึดอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา "เอซีนิวส์" ได้ติดตามท่าทีของบุคคลในแวดวงต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว
โดยในมุมมองของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้จะมีการประกาศยึดอำนาจการปกครองจาก คสช. แต่ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น ถือว่าพื้นฐานเศรษฐกิจยังดี มีความเข้มแข็ง เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะฉะนั้นปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบต่อเสถียรภาพ
แต่สิ่งที่ต้องเป็นห่วงก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะสายป่านสั้น ธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบ ขยายกิจการได้น้อย และครัวเรือน ที่รายได้ต่ำ ก่อหนี้ไว้มาก
ส่วนการแซงซั่น หรือมาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างชาติ จากการทำรัฐประหารนั้น เชื่อว่าอยู่ที่การชี้แจง และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทย บางครั้งก็ต้องใช้เวลาอาจจะ 5-6 เดือน หรือ 3 เดือน
ขณะที่ภาคเอกชนต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ก็ต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพลเรือนโดยเร็ว ซึ่ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะแต่งตั้งขึ้น ควรมีระยะเวลาทำงาน ไม่เกิน 6 เดือน และกำหนดให้ชัดเจนเลยว่า จะมีการเลือกตั้งให้ชัดเจน และให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลล่าช้าอย่างมาก
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็เหมือนเซต 0 เลยเริ่มต้นใหม่ ล้างใหม่ทั้งหมด อยากให้ตั้งคณะทำงาน หรือรัฐบาลที่เข้ามาทำงานจริงๆ เหมือนสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ควรอยู่แค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ชัดเจน ให้ต่างชาติเข้าใจได้
ด้าน นายธนิต โสรัตน์ ประธาน บริษัท V-SERVE GROUP จำกัด และอดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า อยากให้สถานการณ์จบลงโดยเร็ว หุ้นไม่ตก ความเชื่อมั่นเอกชนไม่ติดลบ เงินบาทไม่แข็งค่ามากแสดงว่าเงินไม่ไหลออก และอยากให้ คสช.เร่งยุติความขัดแย้ง ให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศภายในเดือนพ.ค.นี้
ทั้งนี้ อยากให้ คสช.เร่งดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เข้ามาบริหารประเทศ และ 2.การจัดการเลือกตั้ง โดยกำหนดวันที่ชัดเจน เพื่อให้ต่างชาติทราบ และไม่ใช่ช่องว่างดังกล่าวเข้ามาแทรกแซง อาทิ การแบนสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปขายต่างประเทศ
ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) กล่าวว่า เข้าใจว่าการทำรัฐประหารในครั้งนี้เป็นความจำเป็นของทหาร เพราะได้พยายามให้ทุกฝ่ายพูดคุยเพื่อหาทางออกของประเทศแล้วแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเหลือทางออกเดียว คือ การทำรัฐประหาร เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับมาเริ่มต้นเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มได้เร็วหรือไม่ ถ้าตั้งรัฐบาลได้เร็วและเร่งออกไปชี้แจงกับต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจและประเทศคู่ค้าต่างๆ ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้น้อยลงได้
ส่วนท่าทีต่างชาติ นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพไทย เรียกร้องให้ไทยรีบกลับคืนสู่กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ พลเรือน และประชาธิปไตย และเปิดการเจรจาที่รวมทุกฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวในประเทศไทย
นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ ว่า สหรัฐกำลังทบทวนความร่วมมือทางทหาร และด้านอื่นๆ กับประเทศไทย เนื่องจากการก่อรัฐประหารไม่มีความชอบธรรม และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยรีบกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือน เคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และจัดการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนโดยเร็ว
ด้าน นางจูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย แถลงเรียกร้องให้กองทัพไทยชี้แจงเหตุผลที่แท้จริงของการทำรัฐประหาร หลังการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลออสเตรเลียติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลอย่างยิ่ง และอยู่ระหว่างพิจารณาความสัมพันธ์กับไทยในหลายด้าน พร้อมกับขอให้ชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในไทยราว 28,500 คน เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิต
ข่าวเด่น