การหารือของ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ เกี่ยวกับกรอบวงเงินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 โดยที่ประชุมได้ข้อยุติเกี่ยวกับจัดทำกรอบวงเงินจะอยู่ที่ไม่เกิน 2.6 ล้านล้านบาท
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นที่จะจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2558 ภายใต้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ระดับ 4% โดยกรอบวงเงินงบประมาณ ทางสำนักงบฯ ยังยืนยันที่ตัวเลข 2.6 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน ส่วนรายได้จะอยู่ในช่วง 2.3-2.4 ล้านล้านบาท และการขาดดุลอาจอยู่ในระดับ 2-2.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากสามารถกำหนดกรอบและโครงสร้างของงบประมาณได้ โดยเฉพาะส่วนของงบลงทุนน่าจะมีประมาณ 17.5% ของวงเงินและจะมีการพิจารณาโครงการจำเป็นเร่งด่วนเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า หรือโครงการอื่นๆ แต่ในปีแรกน่าจะเป็นการจัดสรรงบในส่วนของการศึกษา หรือออกแบบเท่านั้น เพราะการใช้เงินลงทุนน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป
หลังจากนี้ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-9 มิถุนายน จะจัดทำรายละเอียดตามยุทธศาสตร์ของ คสช.จากนั้นให้ส่วนราชการเสนอคำขอเพิ่มเติมเข้ามาภายในวันที่ 27 มิถุนายน คาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณให้ คสช. พิจารณาได้วันที่ 15 กรกฎาคม เมื่อไม่มีสภานิติบัญญัติผู้มีอำนาจก็สามารถเซ็นอนุมัติได้ แต่ก่อนหน้านั้นคงมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อนจะออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2557
แม้ คสช.จะเร่งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากที่ คสช.ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเร่งรัดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะเเล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และสามารถเบิกจ่ายได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
รวมทั้งการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้จัดตั้งบอร์ดบีโอไอ เพื่ออนุมัติโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่อีก 6 แสนล้านบาท จะช่วยพยุงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนให้กลับมาดีขึ้น และการเร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จ่ายเงินโครงการรับจำนำที่ยังค้างจ่ายอยู่ 90,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระดับรากหญ้าและเกษตรกร
แต่ ธปท.เชื่อว่า การกระตุ้นต่างๆ จะยังไม่ส่งผลอย่างเต็มที่ในปีนี้ จึงทำให้โอกาสที่จีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 2.7% ตามที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่จะไปส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้ามากกว่า
ข่าวเด่น