หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 2.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน โดยสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูปเป็นผลมาจากวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ผักสด และสัตว์น้ำ ประกอบกับราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สหุงต้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงค่าไฟฟ้า
แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท จะช่วยให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น 0.46% และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม มีผลทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น 0.03% กระทรวงพาณิชย์จึงประเมินว่า เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปี น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.25% ครึ่งปีหลังอยู่ที่ 2.4-2.6% ทำให้เงินเฟ้อทั้งปียังอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2-2.8%
ส่วนมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าทิศทางเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2557 ยังมีโอกาสขยับขึ้น แม้การกำหนดให้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนกลับไปอยู่ที่ระดับที่ 22.63 บาทต่อกก. และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อไว้ได้บางส่วน เนื่องจาก แรงหนุนเงินเฟ้อยังอาจทยอยเกิดขึ้นมาจากปัจจัยในส่วนอื่นๆ อาทิ
ราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซิน/แก๊สโซฮอล์ที่ยังขยับขึ้นตามต้นทุนตลาดโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า) ขณะที่ กระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมายังราคาสินค้าผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ก็ยังน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เพราะในฝั่งผู้ผลิตเองก็เผชิญกับราคาต้นทุนสินค้าที่ต่างก็เดินหน้าปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นต้นมา
สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นกว่าที่คาดเล็กน้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 ประกอบกับ แรงกดดันด้านราคาสินค้าที่ยังมีโอกาสทยอยขยับขึ้นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 ขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.4-2.8% และกรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจะขยับสูงขึ้นมาที่ 1.5-1.9%
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนที่ผ่านมาเร่งสูงขึ้น โดยค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง พ.ค.-ส.ค. 2014 ส่งผลให้ดัชนีราคาไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมเพิ่มสูงถึง 5.78% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน
ทำให้ดัชนีราคาสินค้าในหมวดพลังงานในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 6.20% เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.37%
ปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมยังคงเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารสดจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.81% ชะลอลงค่อนข้างมากจากค่าเฉลี่ย 3 เดือนก่อนหน้า (ก.พ.-เม.ย. 2014) ก็ตาม
ข่าวเด่น