การลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะต้องกระตุ้นการลงทุน โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการที่ยังคั่งค้าง และในที่สุด คสช.ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด)บีโอไอขึ้น โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ เชื่อว่า ภายหลังการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอ โดยมีหัวหน้า คสช.เป็นประธานกรรมการ จะทำให้นักลงทุนที่เคยชะลอการตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมก่อนหน้านี้ เกิดความมั่นใจมากขึ้น และตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 และหากว่าบอร์ดบีโอไอพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนได้โดยเร็ว จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับส่งเสริม รวมถึงจะส่งผลดีต่อการจ้างงานใหม่อีกหลายแสนตำแหน่งในช่วงปี 2558
สำหรับสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 515 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 308,300 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 848 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 537,000 ล้านบาท
ด้าน นายแสตนลี คัง ประธานสภาหอการค้าต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นและพร้อมจะลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับพื้นฐานเศรษฐกิจและภูมิประเทศของไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนในหลาย ๆ ด้าน โดยหอการค้าต่างประเทศพยายามทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศไทยในขณะนี้ ให้มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะไทยยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ
ด้านการออกใบอนุญาตต่างๆที่เคยล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้ออกใบอนุญาตต่าง ๆ เร็วขึ้น โดยเฉพาะใบ รง.4 นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ปรับกระบวนการทำงานทั้งหมด เช่น ยกเลิกคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภท ซึ่งได้วางกฎเกณฑ์ให้กรมโรงงาน (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด
รวมถึงปรับลดขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุญาตให้เหลือไม่เกิน 30วั น ตามนโยบายของ คสช. ซึ่งการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตจะมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2557 นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ แม้การขอใบอนุญาตต่างๆจะเร็วขึ้น แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และการปล่อยมลพิษต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตารฐานที่เข้มงวดของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโรงงานได้อย่างไม่มีปัญหา
ข่าวเด่น