ข่าวประชาสัมพันธ์
ซีพีเอฟ เปิดยุทธศาสตร์ 5 ปี แผนฟื้นป่าชายเลน พุ่งเป้า ดิน น้ำ ป่า คงอยู่ยั่งยืน


 

 

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดแผนยุทธศาสร์ป่าชายเลน 5 ปี ภายใต้ “โครงการ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”  เน้นสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงรุกและป้องกันและสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเพิ่มความหลายหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าฟื้นฟูพื้นที่ป่า กว่า 2,000 ไร่


ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Biodiversity-Based Economy Development Office) สถาบันการศึกษา  เครือข่าย ชุมชนและภาครัฐ เพื่อให้ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลนมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง 


น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานเพาะลี้ยงสัตว์น้ำและสายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า “โครงการ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” เป็นแผนยุทธศาสตร์ปลูกป่าชายเลนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยมุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนผ่านความร่วมมือในเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสถานการณ์ป่าชายเลนในปัจจุบัน ซึ่งป่าชายเลนมีส่วนสำคัญต่อการรักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพหรือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงโดยตรงต่อ “ความมั่นคงทางอาหาร” ของประชากรโลก ในฐานะที่ ซีพีเอฟ เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร จึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่ อีกทั้งเป็นหลักประกันต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของคนในสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น 

“หลักการในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน สอดคล้องกับพันธกิจของซีพีเอฟในเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการเดินไปสู่เป้าหมาย “ดินน้ำป่าคงอยู่” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลัก ของทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับ การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environment Conservation and Climate Change Mitigation)” น.สพ.สุจินต์ กล่าว 


นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการไว้ 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา และระยอง โดยในปี 2557 กำหนดพื้นที่นำร่องปลูกป่าชายเลนไว้ 3 จังหวัด คือ ชุมพร สมุทรสาคร และระยอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,100 ไร่ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการศึกษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ก่อนนำไปสู่การจัดการกิจกรรมที่เหมาะสม ซึ่งจะเน้นการอนุรักษ์ ดูแลรักษาพื้นที่ป่าชายเลนให้คงสภาพตามธรรมชาติ ไม่ถูกรบกวนหรือทำลายให้เสื่อมโทรมโดยการกระทำของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เร่งฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและภาคประชาสังคม รวมทั้งการส่งเสริมกระบวนการเข้าถึงความรู้เพื่อเพิ่มคุณค่าของป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการการติดตามและรายงานผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า โครงการยุทธศาสตร์ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” เป็นการต่อยอดโครงการปลูกป่าชายเลนของ ซีพีเอฟ ที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2536 และจนถึงปี 2556 บริษัทมีการปลูกป่าไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 301,027 ต้น ครอบคลุมพื้นที่ 5,600 ไร่ ใน 17 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจติดตามผลของบริษัทพบว่าต้นไม่ที่ปลูกคงเหลือทั้งหมด 84,000 ต้น จำนวน 123.8 ไร่ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม 

“โครงการนี้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของโรดแมพ ซีพีเอฟ  ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคู่ค้าและคู่ธุรกิจ ที่ต้องดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ตามโรดแมพ 3 เสาหลักของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่” นายวุฒิชัย กล่าวย้ำ

นายสมบัติ กาญจนไพหาร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า จากความสำคัญและสถานการณ์พื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของแผนแม่บทการจัดการป่าชายเลนประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.52 ล้านไร่ ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมเครือข่ายในการอนุรักษ์คุ้มครอง และป้องกันป่าชายเลนที่ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง 

“การดำเนินโครงการ ปลูก-ปัน-ป้อง ป่าชายเลน ได้นำแนวคิดการพัฒนาบนพื้นฐานความตระหนักรู้ในคุณค่า การใช้ประโยชน์อย่างรับผิดชอบ และการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีของโครงการความร่วมมือในเชิงบูรณาการ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน รวมถึงส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าชายเลนและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง” 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า  จากโครงการความร่วมมือปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่มีการวางแนวทางการติดตามและประเมินผล ทางเบโด้ได้ใช้กลไกการประเมินคุณค่าและวัดผลเชิงนิเวศของป่าชายเลน หรือ PES (Payments for Ecosystem Services)  ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจะทำให้ทราบมูลค่าของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเชิงปริมาณ อาทิ  มูลค่าของเนื้อไม้ มูลค่าการควบคุมระบบดูดซับน้ำฝนและระบายน้ำให้กับลำธาร มูลค่าการควบคุมการกัดชะพังทลายของดิน มูลค่าการบรรเทาความรุนแรงของอากาศ และมูลค่าการดูดซับกาซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการสามารถติดตามและประเมินผลก่อนและหลังการดำเนินงานได้

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2557 เวลา : 02:37:41
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:14 am