หุ้นทอง
ศูนย์วิจัยทองคำเชื่อ ราคาทองขึ้นไม่เกิน 2 หมื่น


ศูนย์วิจัยทองคำเผยดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน มิ.ย. ร่วงลงอยู่ที่ระดับ 45.53 จุด ลดลง 9.76% ปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ นโยบายการเงินยุโรปกดดัน ส่วนเงินบาทผันผวนกระทบทองในประเทศ พร้อมเผยแนวโน้มต้นทุนการผลิตทองจากรายงานประจำปี 8 เหมืองทองใหญ่ชี้ต้นทุน cash cost พุ่ง ส่วนต้นทุนรวมอยู่ระหว่าง 915-1,202 เหรียญต่อออนซ์


นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2557 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 45.53 จุด หรือลดลง 9.76% โดยค่าดัชนีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดอีกครั้งเป็นการสะท้อนมุมมองในเชิงลบต่อราคาทองคำในประเทศระหว่างเดือน ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มผู้ลงทุน โดยมีปัจจัยค่าเงินบาท การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดเพียงเล็กน้อยจึงยังไม่ได้สะท้อนมุมมองเชิงลบมากเกินไป

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้าจากการสำรวจพบว่า ดัชนีโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.77 จุด เพิ่มขึ้นจากการจัดทำเดือนพฤษภาคมเล็กน้อย ทำให้เชื่อว่ากลุ่มตัวอย่างยังคงมีมุมมองระยะกลางต่อราคาทองคำในเชิงบวก โดยมองปัจจัยเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท อุปสงค์ทองคำเป็นปัจจัยหนุน

ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ประธานคณะทำงานศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศในเดือนมิถุนายนจะมีระดับใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคมหรือปรับลดลง  ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ

สำหรับราคาทองคำในตลาดโลกมองกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดน่าจะอยู่ระหว่าง 1,260-1,280 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดจะอยู่ที่ 1,200-1,220 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,600-19,800 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,600-18,800 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำรายงานแนวโน้มต้นทุนการผลิตโดยพิจารณาจากต้นทุน Cash cost ที่รวบรวมมาจากรายงานประจำปี 2550-2556 ของเหมืองใหญ่ทั้ง 8 ซึ่งมีกำลังการผลิตทองคำกว่า 1ใน 4 ของปริมาณทองคำในปี 2556 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2556 โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขุดเจาะ ต้นทุนค่าแรง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ส่วนต้นทุน Cash Cost เฉลี่ยของทั้ง 8 เหมืองถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการผลิตในปี 2556 นั้นอยู่ที่ 676.69 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์   ด้านต้นทุนแบบ All-in sustaining Cost   ของ 8 เหมืองใหญ่ในปี 2556 นั้น ต้นทุนดังกล่าวอยู่ในช่วง 915-1,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์  และเมื่อนำมาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการผลิตแล้ว ในปี 2556 ต้นทุน All-in sustaining จะอยู่ที่ 1,032.61 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2557 เวลา : 14:02:31
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 11:52 pm