หลังจากถกเถียงกันมาพักใหญ่ว่าจะดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ครบ 64 แมตช์ ได้ฟรีหรือไม่ฟรี วันนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประชาชนคนไทยจะได้รับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกฟรีอย่างแน่นอนผ่าน 3 ช่องฟรีทีวี คือ ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 8 ส่วนจะเพิ่มช่อง 11 เข้าไปด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการเจรจาขออนุญาติการถ่ายทอดสดกับสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านช่อง 11 แต่ปัจจุบันทั้ง 3 ช่องฟรีทีวีก็มีสัดส่วนการถ่ายทอดสดครบ 64 แมตช์การแข่งขัน โดยในส่วนของช่อง 8 ผู้ชมจะสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ได้จำนวน 56 แมตช์ นอกจากนี้ ช่วงก่อนเวลาการแข่งขัน 1 ชั่วโมง ยังจะมีการถ่ายทอดบรรยากาศภายในสนาม และไฮไลท์ของการแข่งขัน
สำหรับช่อง 5 ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 จำนวน 38 แมตช์ การถ่ายทอดสดพิธีเปิดและปิด รวมเวลาการถ่ายทอดสดประมาณ 80 ชั่วโมง ซึ่งการถ่ายทอดสดทั้ง 38 แมตช์ ผู้ชมสามารถรับชมได้ผ่านการส่งสัญญาณ 2 รูปแบบ คือ ระบบอนาล็อก และระบบทีวีดิจิทัล ส่วนช่อง 7 ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจำนวน 29 แมตช์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะถ่ายทอดสดเพียง 22 แมตช์ เพื่อให้ผู้ชมมีโอกาสในการรับชมการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ข้อสรุปดังกล่าวจบลงด้วยดี ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) มีมติให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ใช้เงินจากกองทุน กทปส.ไม่เกิน 427.015 ล้านบาท ชดเชยให้ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุบอลโลก 2014 เป็นค่าเสียโอกาสในการนำการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 มาเผยแพร่เป็นการทั่วไปบนฟรีทีวีทุกแพลทฟอร์ม อันประกอบด้วย ค่าเสียโอกาสในการจำหน่าย Set Top Box ค่าลิขสิทธิ์ True Vision และรายได้ของตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้คนไทยได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบ 64 คู่ ผ่านฟรีทีวี ซึ่งเม็ดเงินกก้อนดังกล่าวที่ กทปส. จ่ายถือว่าต่ำกว่าที่ทางบริษัท อาร์เอส เรียกร้องเงินมาเป็นวงเงิน 766.515 ล้านบาท
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทในฐานะผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ขอขอบคุณคณะตุลาการศาลปกครองกลางชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดที่ให้ความเป็นธรรมกับเราด้วยดีตลอดมา ทำให้บริษัทสามารถเดินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ตั้งแต่ต้น แต่หลังจากที่คำตัดสินของศาลปกครองชั้นสูงสุดพิพากษาให้บริษัทเป็นผู้ชนะคดี ทาง กสทช.ได้ติดต่อประสานมาว่าต้องการหารือเร่งด่วน เพื่อนำคอนเทนต์การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 มาถ่ายทอดสดให้คนไทยดูฟรีครบทั้ง 64 แมตซ์ พร้อมให้ค่าชดเชยที่บริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจตามแผนที่วางไว้
จากการหารือร่วมกันดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท อาร์เอส ต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง และเล็งเห็นถึงเจตนาอันดี รวมถึงความตั้งใจของกสทช. จึงยินดีให้ความร่วมมือและเร่งประสานผู้เกี่ยวข้องโดยใช้เวลาประมาณ 2 วัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก พลโท ชาติอุดม ติตกะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ให้ความช่วยเหลือในการนำการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 มาออกอากาศได้ทันเวลา
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าบริษัทจะได้รับเงินจำนวน 427 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสที่บริษัทจะได้รับจากการทำธุรกิจ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อลิขสิทธิ์ ถือเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากแผนงานเดิมของการบริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 บริษัทวางเป้าหมายรายได้ไว้สูงกว่านี้
อย่างไรก็ดี แนวทางการบริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 นับจากนี้ บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยเฉพาะในด้านของการบริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทั้งหมด ยังอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ซึ่งผู้สนใจที่จะนำลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียง และแพร่ภาพการถ่ายทดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ยังคงต้องต้องติดต่อขอลิขสิทธิ์จากบริษัท
ส่วนแผนการเยียวยาลูกค้าที่ซื้อกล่องบอลโลกไปนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเบื้องต้นบริษัทมีแผนที่จะเยียวยาลูกค้าด้วยการรับคืนกล่องบอลโลกและรับคืนเงินจำนวน 1,590 บาท หากลูกค้าต้องการค่าชดเชย โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว
นายสุรชัย กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้เรื่องของธุรกิจเป็นเรื่องรอง เรื่องของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ บริษัทจึงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะถึงแม้ว่าเงินที่ได้มาจะไม่คุ้มเสีย แต่ก็ไม่ได้ขาดทุน แค่ทำให้ไม่ได้เงินตามเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น ส่วนในเรื่องของการเยียวยา บริษัทก็ไม่ได้นิ่งเฉย ยินดีชดเชยค่าเสียหายให้ แต่บริษัทมั่นใจว่าลูกค้าที่ซื้อกล่องบอลโลกไปกว่า 3 แสนกล่อง จะไม่นำกล่องทั้งหมดมาคืน เพราะกล่องบอลโลกนอกจากจะชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ได้แล้ว ยังสามารถดูการถ่ายทอดสดย้อนหลัง และรายการพิเศษของฟีฟ่า รวมไปถึงดูการแข่งขันฟุตบอลลาลีกาสเปน และดูทีวีดิจิตอลได้
แม้ว่าตอนนี้ บริษัท อาร์เอส จะมีปัญหาในเรื่องของการบริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 แต่ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าขายกล่องบอลโลก และทำกิจกรรมการตลาดตามแผนงานเดิมที่วางไว้ เช่นเดียวกับการเจรจาธุรกิจร่วมกับพันธมิตรที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์รายย่อยในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งหลังจากจบการแข่งขัน บริษัทมั่นใจว่ายังมีรายได้อยู่ที่ 650 ล้านบาท โดยในส่วนของรายได้ดังกล่าวไม่ได้มาจากการขายสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการขายช่วงสิทธิ์ต่อให้กับพันธมิตร เช่น พีเอสไอ ทรู และเอไอเอส เป็นต้น
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ผ่านบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แฮฟ) โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว และเคยพูดมาตลอดว่าไม่เคยมีผลได้ผลเสีย แต่ขอเสดงความคิดเห็นในฐานะนักธุรกิจว่า กฎมัสต์แอฟแทรกแซงกลไกตลาด และอาจส่งผลให้การประมูลรับสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งต่อไปไม่คึกคัก เนื่องจากการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้ไม่มีนักธุรกิจกล้าเข้าประมูลบอลโลก เพราะการเข้าไปบริหารสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกแล้ว และหากเป็นเช่นนี้ในอนาคต คอนเทนต์บอลโลกอาจได้รับความสนใจมาบริหารเป็นธุรกิจลดลง ถ้ายังมีกฎมัสต์แฮฟอยู่
นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ อาร์เอส กล่าวว่า อาร์เอสยืนยันไม่ลดราคาให้กับทาง กสทช. เพราะมูลค่าในตอนแรก 766 ล้านบาทที่เรียกไปนั้น คือ ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเงินที่ได้รับจาก กสทช.ไม่เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค ซึ่งหากมีลูกค้าคืนกล่องทั้งหมดกว่า 3 แสนกล่องตามที่บริษัทได้ขายไป บริษัทก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างทั้งหมด ซึ่งเม็ดเงินที่ต้องจ่ายดังกล่าวให้กับลูกค้า ถือว่าสูงกว่าที่เรียกจาก กสทช.
ด้าน น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เรียกอาร์เอสเข้าชี้แจถึงมาตรการการเยียวยาผู้บริโภคที่แบ่งได้ 2 กรณี คือ คืนกล่องบอลโลกทั้งกล่อง หรือ ไม่อยากคืนกล่องแต่ต้องการได้รับค่าชดเชยเฉพาะแพคเกจบอลโลกราคา 299 บาท ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้อาร์เอสทำแผนเยียวยาพร้อมรายละเอียดทั้งหมดมาส่งคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่ 16 มิ.ย. นี้
ผลสรุปของปัญหาดังกล่าวจะเป็นอย่างไร บริษัท อาร์เอส จะมีรายได้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่ จบการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ คงได้รู้ผล แต่ที่แน่ๆ รายได้จากการบริหารสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลโลกที่เข้ากระเป๋าบริษัท อาร์เอส ในครั้งนี้ คงไม่สวยงามเหมือนที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้นอย่างแน่นอน.
ข่าวเด่น