เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เรื่องของหน้าที่ ความรับผิดรับชอบ จะคิดเอาแต่สิทธิและเงินหรือบัตรเครดิตไม่ได้


 

 
ถาม : ดิฉันได้ดูรายการสัมภาษณ์เรื่องเครดิตบูโรผ่านทาง Youtube ของ  Voice TV เลยไปตรวจเครดิตบูโร โดยยื่นคำขอผ่าน ธนาคาร กรุงไทย เมื่อดิฉันได้รับรายงานแล้วมันมีสิ่งที่ดิฉันสงสัย รบกวนช่วยตอบด้วยค่ะ คือว่าในการเข้ามาสืบค้นของ ธนาคารและสถาบันการเงินนั้น ถ้าดิฉัน ไปทำบัตรเครดิตและ เซ็นหนังสือให้ความยินยอม ไปแล้วหลังจากนั้นทางธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้กู้มีสิทธิ์ เปิดดูข้อมูลดิฉันได้ตลอดชีพไหมคะ ทำไมทำอย่างนั้นได้ และถ้าไม่ได้ ทำไมทางธนาคาร.......สามารถ ทำได้คะ การสืบค้นที่ปรากฏในรายงานเครดิตบูโรคือ ระบุว่าการเข้ามาดูนั้นเป็นเรื่องทบทวนวงเงิน แต่ต้องบอกก่อนว่า ดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บัตรเครดิตอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ต้องเพิ่มวงเงิน อีก อย่างที่สำคัญ ถ้าไม่มีการเซ็นยินยอมจากลูกค้า ทำไมทางธนาคาร......สามารถทำได้เพราะเข้าใจมาตลอดว่า เซ็น 1ครั้ง ดูได้แค่1 ครั้งเท่านั้นค่ะ

ตอบ : เรียนท่านเจ้าของข้อมูลครับครั้งแรกที่ธนาคารเข้ามาดูข้อมูลคือการเข้ามาดูเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อหรือเพื่อการออกบัตรเครดิตครับ การเข้ามาดูครั้งต่อไปเรียกว่าการทบทวนสินเชื่อหรือการทำ credit review ครับ ทั้งสองเรื่องสามารถทำได้ตามที่ปรากฏในหนังสือให้ความยินยอมที่เจ้าของข้อมูลได้ลงนามไว้และจะมีผลจนกว่าบัญชีนี้จะมีการปิดบัญชีครับ ไม่ใช่ตลอดชีวิตอย่างที่เข้าใจครับ

ที่สำคัญคือว่า หากไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับข้อมูลของเรา เราทำได้คือ ปิดบัญชีสินเชื่อ และไม่กู้ยืมเงินใดๆ กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอีกเพื่อจะได้ไม่ต้องอนุญาตผ่านหนังสือให้ความยินยอม ใช้เงินออมของเราเท่านั้น มีเท่าใดใช้เท่านั้นครับ พอเพียงครับ รวยเท่าที่เงินเรามี หากปิดบัญชีแล้วกับธนาคารที่เราไม่ต้องการให้เขาเข้ามาดูก็จะไม่มีประเด็นแล้วครับ ลองพิจารณาตัดสินใจนะครับ ย้ำนะครับเงินที่เขาเอามาให้เรากู้หรือทดลองจ่ายตามบัตรเครดิตที่เราใช้นั้นเป็นเงินของคนที่ฝากเงินที่เรียกว่า เงินฝาก มันไม่ใช่เงินของธนาคารครับ


ถาม : ขอบคุณครับ ดิฉันก็เป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อ่านสัญญาก่อน เพราะคิดแต่ว่าจะเอาเงินอย่างเดียว ตอนนั้นคงหน้ามืดคิดแต่ว่าอยากได้บัตรเครดิต เพื่อเอามาอวดเพื่อนๆว่าเป็นคนมีเครดิต

ตอบ : ขอตอบแบบตรงๆ ว่า ไม่มีใครบังคับเราทำสัญญา ไม่มีใครบังคับเรากู้ยืม ตอนทำสัญญาเรามีสติและเป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้จักผิดชอบชั่วดี เมื่อเราลงนามก็คือผูกพัน สัญญาเป็นสัญญา เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ เราไม่สามารถยกเอามาเป็นเหตุครับ กฏหมายเมื่อลงในราชกิจจา ถือว่าประกาศให้รู้ทั่วกันแล้ว ลองนึกดูว่าถ้าคนมายืมเงินเรา เงินของเรา แล้วเขาบอกว่าไม่ได้อ่านสัญญา จึงไม่ผูกพัน...เรายอมรับมั้ยครับ เราจะคิดแต่ว่า ถ้าได้เราเอา ถ้าเสียเราไม่ยอมรับคงไม่ได้ครับ ลองคิดในมุมว่าเราเป็นคนฝากเงินเราอยากได้คนนิสัยแบบนี้มากู้ยืมเงินมั้ยครับ ถือเป็นประสบการณ์ที่ต้องจดจำนะครับ ต้องอ่านสิ่งที่เป็นหน้าที่ ความรับผิดรับชอบ จะคิดเอาแต่สิทธิและเงินหรือบัตรเครดิตไม่ได้ครับ

สุรพล โอภาสเสถียร 
ผู้จัดการใหญ่ 
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มิ.ย. 2557 เวลา : 11:39:21
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:26 am