ไอที
สจล. อวด "ต้นแบบนวัตกรรมความปลอดภัยโลกไซเบอร์"


 

ต้องยอมรับว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน บวกกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถกระจายสัญญาณได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้มีการขยายตัวของทั้งผู้ใช้สมาร์ทโฟนและการเข้าถึงโลกออนไลน์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ทั้งในด้านการบริโภคข่าวสาร การซื้อขายสินค้า และการแข่งขันด้านการตลาด มีเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าและบริการบนโลกไซเบอร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินและอื่น ๆ ที่สะดวกมากมายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ จึงทำให้เสี่ยงอาจถูกจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้สร้างความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีนวัตกรรมความปลอดภัยใหม่ฝีมือนักวิจัยไทยจากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่อาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ในอนาคต

 
 
 
 
ทั้งนี้ การช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์ได้รับความนิยมในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการค้าผ่านเวบไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ ไลน์ รวมถึง เว็บไซต์ยอดนิยมอื่น ๆ เช่น www.siambrandname.com แหล่งซื้อขายสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมระดับไฮเอนด์ www.pdamobiz.com เว็บไซต์ซื้อขายมือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ และ www.olx.co.th ที่รวบรวมสินค้าอย่างหลากหลาย ซึ่งจากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์ของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา เติบโตถึง 25 – 30% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.32 – 1.35 แสนล้านบาท
 
 
 
 
สาเหตุที่ได้รับความนิยมมาจากความหลากหลายของสินค้า พร้อมอัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่ช่วยดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ตลอดจนความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า อีกทั้งบริการส่งสินค้าที่รวดเร็วทันใจ และการให้ชำระเงินได้หลายช่องทาง รวมถึงการชำระผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารต่าง ๆ
 
แต่ทั้งนี้การชำระเงินออนไลน์จำเป็นต้องเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงด้วย เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล เพราะจากข้อมูลของไซแมนเทค บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย แสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามบนโลกอินเทอร์เน็ตของไทยก็ไม่แพ้ที่ใดในโลกเช่นกัน โดยในปี 2556 ติดอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก ขณะที่การจารกรรมส่วนใหญ่มุ่งเพื่อนำไปใช้แอบอ้างในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยที่กลุ่มผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจรกรรมข้อมูล
 
 
 
 
อย่างไรก็ดี เวลานี้มีผลงานวิจัยนวัตกรรมความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ใหม่ฝีมือคนไทย ที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ทำให้การทำธุรกรรมบนโลกไซเบอร์ในอนาคตปลอดภัยยิ่งขึ้นได้  โดยเป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรวัฒน์ ชิวปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และคณะ ที่พัฒนา “ต้นแบบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยข้อมูลโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติก”  ซึ่งอาศัยการเกิดปรากฏการณ์เคออส (Chaos) ที่เกิดขึ้นในวงจรกรองสัญญาณดิจิตอลมาประยุกต์ใช้งานในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นระบบเข้ารหัสลับที่มีความปลอดภัยข้อมูลสูง
 
 
 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรวัฒน์ กล่าวว่า เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เป็นการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการป้องกันข้อมูลกันอย่างแพร่หลาย แต่เทคโนโลยีนี้มีหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของทีมวิจัยได้พัฒนารูปแบบการเข้ารหัสลับข้อมูลให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเคออส (Chaos) ซึ่งระบบนี้มีจุดเด่น คือ เป็นระบบที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงื่อนไขเบื้องต้น ทำให้ไม่สามารถทำนายค่าระบบเคออติกได้ในระยะยาว โดยการเข้ารหัสลับทั่วไปเมื่อป้อนข้อมูลเข้าเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ข้อมูลที่ผ่านการเข้ารหัสลับจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คาดเดาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเข้ากับข้อมูลออกได้ แต่สำหรับการเข้ารหัสลับแบบเคออติก สัญญาณที่ผ่านการเข้ารหัสลับมีลักษณะคล้ายสัญญาณรบกวน และไม่ปรากฏความสัมพันธ์ใด ๆ กับสัญญาณข้อมูลเข้าแม้ว่าจะมีการป้อนข้อมูลเข้าซ้ำ ๆ จึงทำให้การเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติกมีประสิทธิภาพสูงในการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
 
สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้งานในองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการความปลอดภัยในการสื่อสารข้อมูลสำคัญและเพื่อให้เป็นความลับเฉพาะในองค์กรเดียวกัน 
 
ในอนาคตอันใกล้ หากนำนวัตกรรมระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไปใช้จริงในระบบต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการใช้บริการและทำธุรกรรมบนเครือข่ายอื่น ๆ ไม่ต้องกังวลว่า ข้อมูลสำคัญๆ  เช่น หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคาร และหมายเลขบัตรเครดิต จะไม่ปลอดภัย
 
 
 
 
เวลานี้ทางทีมวิจัยยังกำลังพัฒนาระบบต้นแบบการเข้ารหัสลับแบบเคออติกให้เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน และแทบเล็ตสำหรับการรับ – ส่งข้อความสั้น (SMS) ซึ่งจะช่วยป้องกันการโจรกรรมข้อมูลลับ และข้อมูลสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้ด้วย รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับปกปิดข้อความการสนทนาทางเสียงบนระบบโทรศัพท์ ทั้งในรูปของสมาร์ทโฟนและโทรศัพท์พื้นฐานด้วย 
 
นับเป็นอีกผลงานดี ๆ จากนักวิจัยไทย ที่เก่งกล้าสามารถไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เลยทีเดียว
 

LastUpdate 18/06/2557 09:37:07 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 4:41 am