พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ลุยซื้อกิจการ ไทยพร็อพเพอร์ตี้ หวังได้สินทรัพย์มูลค่าสูงจากแกรนด์ฯ ขึ้นแท่นผู้นำ 1 ใน 5 ของวงการอสังหาริมทรัพย์ เดินหน้าเจรจาพันธมิตร ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (จำกัด) มหาชน เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท ไทยพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (TPROP) ด้วยการแลกหุ้น (Share Swap) 1,800 ล้านบาท โดยบริษัทขายที่ดิน 4 แปลง มูลค่ารวม 3,570 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก แล้วไปซื้อไทยพร๊อพฯ ซึ่งทำให้ได้บริษัทลูก คือ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND) มาด้วย คาดว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพิ่มส่วนของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า และโรงแรมเข้ามา 18% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่สินทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุด ยังมีสัดส่วนมากที่สุด 63%
ที่ดินที่ขายไป 4 แปลง ได้แก่ 1.ที่ดินถนนสุขุมวิท 103 (ใกล้แยกบางนา) เนื้อที่ 17 ไร่ ราคา 1,700 ล้านบาท ให้กับกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป และบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ 2. ที่ดินบริเวณกรุงเทพกรีฑา เนื้อที่ 160 ไร่ ราคา 870 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาขายให้กับผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ 3. ที่ดินบริเวณแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 110 ไร่ ราคา 500 ล้านบาท ซึ่งเจรจาขายให้กับกลุ่มแสนสิริ และ 4.ขายโครงการยูนิลอฟท์ เชียงใหม่ มูลค่า 500 ล้านบาท จะขายเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์
การเจรจาเพื่อซื้อกิจการครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินและขยายธุรกิจ เพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้ ซึ่งมีเพิ่มมาจากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง จึงได้เริ่มเจรจาและดำเนินการเพียงเดือนเศษ เพราะสนใจสินทรัพย์ของแกรนด์ ที่ไทยพร็อพฯ ถือหุ้นอยู่ 40% เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงซ่อนอยู่ และแกรนด์มีแผนที่จะสร้างคอนโดมิเนียมระดับบน (ไฮเอ็นด์) อีก ซึ่งมีโอกาสที่จะออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และแทบไม่มีหนี้เลย มีแต่รายได้ประจำจากธุรกิจโรงแรม ที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติ และมีโครงการเกาะแนวรถไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้บริษัทมีโครงการในใจกลางเมืองเพิ่มขึ้นด้วย
“เราตัดสินใจเดินทางลัดเพื่อให้บริษัทเติบโต รองรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งการซื้อ TPROP ในครั้งนี้เป้าหมายไม่ได้อยู่แค่ทรัพย์สินของ TPROP เท่านั้น แต่อยู่ที่การถือหุ้นสัดส่วน 40.62% ในบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ( GRAND ) ที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า ได้แก่ อาคารสำนักงาน ร้านค้า โรงแรม รวมถึงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายด้วย” นายชายนิด กล่าว
สำหรับการเข้าซื้อ TPROP ครั้งนี้ PF จะใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) มูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยได้ส่วนของผู้ถือหุ้น TPROP มา 4,789 ล้านบาท โดย PF จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ TPROP โดยการเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF เป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น TPROP ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ TPROP ต่อ 0.50 หุ้นของบริษัท หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 0.57 บาท
หากการเข้าซื้อกิจการ TPROP เป็นผลสำเร็จ จะทำให้ PF เข้าไปมีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญโดยอ้อม (Chain Principle) ใน GRAND ส่งผลให้ PF มีหน้าที่เข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ GRAND โดยมีค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ GRAND ต่อ 1.149123 หุ้นของ PF หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 1.31 บาท ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 นี้
การควบรวมกิจการครั้งนี้ มีผลทำให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นบริษัท 1 ใน 5 อันดับแรก ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านมูลค่าสินทรัพย์ จาก 30,668 ล้านบาท เป็น 45,224 ล้านบาท ทำให้รายได้ปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 15,992 ล้านบาท เป็น 22,176 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 8,646 ล้านบาท เป็น 16,392 ล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนลดลงเหลือ 1.33 เท่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในอนาคตด้วย เพราะทำให้บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์ และรายได้ที่หลากหลายขึ้น ทั้งโครงการแนวราบ คอนโดมิเนียม คอนโดกลางใจเมือง สำนักงานให้เช่า และโรงแรม โดยเพอร์เฟ็คฯ จะเข้ามาถือหุ้นในแกรนด์ฯ 40% และถอนไทยพร็อพฯ ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
สำหรับทิศทางในอนาคตบริษัทมีแผนการพัฒนาและขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับรู้กำไรล่วงหน้า ด้วยการจัดตั้งเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(REIT) โดยมีแผนนำศูนย์การค้า 2 แห่ง ได้แก่ เมโทร เวสต์ทาวน์ และ เมโทร อีสต์ทาวน์ มูลค่ารวม 1,800 ล้านบาท จัดตั้งเป็น กองทุนฯ รวมทั้งมีแผนจัดพอร์ตการลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยนำ คิโรโระ รีสอร์ท โรงแรมในประเทศญี่ปุ่น, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา และ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า รวมมูลค่ารวม 3,700 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนฯ ด้วย
"PF มีจุดอ่อนที่การรับรู้รายได้ในส่วนคอนโดมิเนียมล่าช้าเนื่องจากงานก่อสร้าง แต่หลังจากนี้บริษัทได้ปรับแผนการลงทุนใหม่ ด้วยการพัฒนาคอนโดมิเนียม สูงไม่เกิน 8 ชั้นแทน ภายใต้แบรนด์ใหม่ โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะพัฒนาใน 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ได้แก่ ทำเลรัชดา, พหลโยธิน, เกษตร-นวมินทร์ และพระราม 4 ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ"นายชายนิด กล่าว
จากนี้ไปจะเห็นรายได้รวมแต่ละปีของบริษัทไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% หลังปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป ซึ่งจะทำให้สัดส่วนที่ดินรอการพัฒนาลดลงจากปัจจุบันสูงถึง 25% ของสินทรัพย์เหลือเพียง 19% และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะลดเหลือ 14-15% เรียกว่าเข้าสู่ความสมดุล และครึ่งปีหลังนี้ยังคงดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด แต่ขณะเดียวกัน ก็กำลังเจรจาที่จะร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในการบริหารโรงแรมคิโรโระ รีสอร์ท จากเดิมที่ตั้งใจจะขายออกไป แต่เปลี่ยนแผนเป็นร่วมทุนแทน เนื่องจากเห็นโอกาสในการสร้างได้
ข่าวเด่น