ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(กนง.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญในตลาดเงินและตลาดทุน คาดการณ์ โดย คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2%
เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน หลังจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง ทำให้นโยบายการคลังมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยในระดับ 2% ก็ถือว่าผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน ได้แก่ การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปี 2557 ลงเหลือเพียง 1.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 2.7%
ซึ่ง นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในสองไตรมาสแรกของปี 2556 พบว่า หดตัว 0.5% จึงปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2557 ลดลงเหลือต่ำกว่า 1% โดยคาดว่า GDP ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวขึ้น 3.4 - 3.5% จากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขประมาณการณ์ GDP ทั้งปี จะขยายตัว 1.5% และคาดว่าผลจากการฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจจะเห็นชัดเจนในช่วงปี 2558 ซึ่งได้ปรับการขยายตัวของ GDP จาก 4.8% เป็น มากกว่า 5%
ต้องยอมรับว่า การปรับลดจีดีพีครั้งนี้ของ กนง. ถือว่าเป็นตัวเลขต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ประมาณ 2.5% เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ดำเนินการผลักดันงบประมาณปี 57 ที่ยังล่าช้าอยู่ให้ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับ คสช.เตรียมที่จะลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ค้างอยู่ประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีโครงการที่ทยอยออกมาได้
ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ย นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) คาดว่า กนง.อาจเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ และจะทยอยปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เพราะภายหลังจากที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ทำให้นโยบายทางการคลังสามารถกลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ
ดังนั้นนโยบายทางการเงินจึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายลงไปอีก เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรหันกลับไปทำหน้าที่หลักด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาและค่าเงิน อีกทั้งความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนก็มีท่าทีจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อันจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการเป็นอย่างดี
ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูงควรระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหากแนวโน้มรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเติบโตได้ไม่มากนัก ขณะที่ภาคธุรกิจที่คาดว่า จะเร่งการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า อาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน ทั้งจากสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เองที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้น และต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้น
สำนักวิจัยฯ CIMBT ยังคาดการณ์ถึงทิศทางค่าเงินบาทด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อค่าเงินอ่อนค่าประกอบกับกระแสเงินไหลออก ก็จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพตลาดเงิน สิ่งที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทำ คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก และลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ
หลังจากนี้คงต้องติดตามการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปีนี้ของหน่วยงานต่างๆ หลัง คสช.เข้าบริหารประเทศ ว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร รวมทั้งจะมีการปรับลดหรือปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างไร
ข่าวเด่น