เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือสหรัฐฯลดอันดับการค้าแรงงาน


 

 

หลังสหรัฐฯ ประกาศลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย จากบัญชี 2 ลงมาอยู่บัญชี 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไทยรู้สึกผิดหวังในการจัดลำดับครั้งนี้ เนื่องจากทางการมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้นำคนปัจจุบันที่กำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและจุดตรวจทางทะเล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว

ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดย นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากการที่สหรัฐฯ ประกาศลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย โดยกระทรวงฯจะติดตามมาตรการต่างๆ ที่จะประกาศออกมากในช่วงระยะเวลา 90 วันหลังจากนี้ ทั้งการคว่ำบาตร งดความช่วยเหลือด้านต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการเบา เช่น การตักเตือน หรือมาตรการหนักไปจนถึงตัดความสัมพันธ์ทางการค้า 
 
 
 
 
 
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เรื่องนี้มีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ โดยในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ อาจทำให้การเติบโตล่าช้าบ้าง แต่ภาครัฐอยู่ระหว่างการชี้แจงเพื่อให้สหรัฐฯเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ทุกภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เอกชนได้พยายามชี้แจงกับคู่ค้าต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯว่าที่ผ่านมาไทยได้พยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ 

 
 
 
ส่วนภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. จะแจ้งให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) เข้าใจว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย ไม่ได้รุนแรงอย่างในอดีต โดย ส.อ.ท.จะร่วมมือกับภาครัฐ จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว พร้อมให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและจัดกรอบการทำงานของแรงงานให้มีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในรูปด้านจิตใจ ทำให้เกิดความกังวล โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลแช่แข็ง และ กุ้งส่งออก

ซึ่ง ส.อ.ท.มั่นใจว่า สหรัฐฯ และยุโรปจะไม่คว่ำบาตรสินค้าอาหารทะเลส่งออกของไทย เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่เข้าใจ ประกอบกับนักลงทุนภาคการผลิตของไทย มีนักลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรปรวมอยู่ด้วย หากมีการคว่ำบาตรไทยก็จะกระทบนักลงทุนของสหรัฐฯ และยุโรปด้วย

 
 
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ประกอบด้วย 8 สมาคมที่ทำธุรกิจด้านประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ร่วมประชุมเพื่อวางกรอบการจัดทำแผนข้อมูลและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกุ้งปลาป่นและที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเตรียมนำผลจากการหารือชี้แจงต่อหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ที่มีการนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องที่ระบุว่าไทยมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 
 
 
แต่ยอมรับว่า การลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ได้ส่งผลต่อความมั่นใจของประเทศคู่ค้าหรือผู้นำเข้า ซึ่งเอกชนก็ได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจอยู่และแม้ว่าคำประกาศของสหรัฐฯจะไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งไทย แต่มีผลเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ 

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า หากไทยถูกคว่ำบาตรจริง ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง และอุตสาหกรรมกุ้ง ค่อนข้างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้ากุ้งและทูน่าจากไทย (share 40% และ 20% ตามลำดับ) รวมทั้งยังอาจมีผลในเชิงจิตวิทยาที่ประเทศคู่แข่งทางการค้าจะนำไปขยายผล เพื่อโจมตีอุตสาหกรรมการค้าของไทยว่ามีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับต่อไป

ขณะเดียวกันยังเป็นสิ่งที่ทำลายภาพพจน์ของไทยในเวทีโลก และอาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุน และการระงับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มิ.ย. 2557 เวลา : 00:27:19
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 7:16 am