ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ทิศทางสินเชื่อครึ่งปีหลัง มีโอกาสเติบโตดีขึ้น...จากพัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย
• เงินให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ 9.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.71 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า หรือเติบโตร้อยละ 7.92 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินให้กู้ยืมอยู่ที่ระดับ 10.96 ล้านล้านบาท ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่จำนวน 6.53 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า หรือเติบโตร้อยละ 5.01 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นคงเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีสามารถพลิกกลับมามีโมเมนตัมที่ดีขึ้นได้เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2557 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินภาพการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปี 2557 อย่างระมัดระวัง จากการเติบโตของสินเชื่อที่แผ่วลงในช่วง 5 เดือนแรกของปีและผลของฐานที่สูงในปีก่อน โดยยังคงคาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 5.0 - 7.0 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า แม้มีโอกาสขยับเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการมากขึ้น
• ส่วนแนวโน้มเงินฝากในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 นั้น คาดว่า ภาวะการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์น่ามีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารให้เติบโตสอดคล้องกับความก้าวหน้าของสินเชื่อ ขณะที่ คงต้องติดตามนโยบายการลงทุนของภาครัฐและวิธีการระดมทุนเพื่อประเมินผลกระทบกับสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสิ้นปี 2556 พร้อมประเมินแนวโน้มสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เงินให้สินเชื่อปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ เงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมปรับลดลง ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยตึงตัวขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้า
>>ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 มีจำนวน 9.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.71 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.55 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 เร่งขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียง 9.70 พันล้านบาทในเดือนเมษายน 2557 โดยมีสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจเป็นแรงผลักดันสินเชื่อที่สำคัญ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ยอดเงินให้สินเชื่อยังเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 8.37 ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 มาที่ร้อยละ 7.92 ในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่อในองค์รวมที่อ่อนแรงลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว
>>
ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 10.17 ล้านล้านบาท ลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่จำนวน 5.89 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 10.23 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 ขณะที่ ¬ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) มีจำนวน 7.86 แสนล้านบาท ลดลง 6.36 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าเป็นผลจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำและหุ้นกู้ในบางธนาคารพาณิชย์ ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 10.96 ล้านล้านบาท ลดลง 6.53 หมื่นล้านบาท จากระดับ 11.03 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า หรือเติบโตร้อยละ 5.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.12 ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเงินให้สินเชื่อที่ชะลอลงเช่นกัน
>>สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 ตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากทั้งสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ เงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินให้กู้ยืม ปรับตัวลดลง ดังสะท้อนให้เห็นผ่าน
-อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (Gross Loans to Deposits and Borrowings) เพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 90.88 เทียบกับร้อยละ 90.07 ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557
-สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง ลดลงเช่นกัน โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 มีจำนวน 2.72 ล้านล้านบาท ปรับลดลง 1.04 แสนล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการปรับลดลงโดยพร้อมเพรียงกันขององค์ประกอบสภาพคล่องนำโดยการปรับลดลงของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) และองค์ประกอบด้านเงินสดตามลำดับ ทั้งนี้ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.56 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 ลดลง 1.22 แสนล้านบาท จากระดับ 2.68 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557
แนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2557...คงทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย
เมื่อต่อภาพไปถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นท่ามกลางแรงหนุนเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐที่ทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การผลักดันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและมาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลก คงเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีสามารถพลิกกลับมามีโมเมนตัมที่ดีขึ้นได้เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยบางประเภท อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินภาพการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปี 2557 อย่างระมัดระวัง จากการเติบโตของสินเชื่อที่แผ่วลงในช่วง 5 เดือนแรกของปีและผลของฐานที่สูงในปีก่อน ขณะที่ คาดว่าภาคธุรกิจคงใช้ระยะเวลาในการทยอยลดสินค้าคงคลังแล้วจึงเริ่มเข้าสู่รอบการผลิตใหม่ซึ่งจะแปลงมาเป็นความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม และภาคครัวเรือนคงต้องรอชั่งน้ำหนักระหว่างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยและสถานการณ์ด้านรายได้ที่ดีขึ้นกับภาวะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงคาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 5.0 - 7.0 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า แม้มีโอกาสขยับเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการมากขึ้น แต่จะติดตามผลเชิงบวกจากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด และอาจปรับเพิ่มประมาณการได้หากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ชัดเจนในระยะถัดไป
ส่วนแนวโน้มเงินฝากในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่า ภาวะการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์น่ามีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะกลางถึงยาวที่ให้ผลตอบแทนจูงใจและสามารถแข่งขันได้กับทางเลือกการออมอื่นๆ เพื่อล็อกเงินฝากไว้กับธนาคารและเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารให้เติบโตสอดคล้องกับความก้าวหน้าของสินเชื่อ ซึ่งในที่สุดแล้วคงสนับสนุนให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในองค์รวมช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อยู่ในระดับทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามนอกจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทย ภาวะค่าครองชีพและระดับราคาสินค้าและพลังงาน เนื่องจากจะมีผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งผูกโยงกับความก้าวหน้าของสินเชื่อแล้ว ยังต้องจับตามาตรการต่างๆ ของภาครัฐและวิธีการ/ช่องทางการระดมทุนซึ่งจะกระทบต่อทิศทางสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในระยะถัดไป
ข่าวเด่น