ในปีนี้ เทรนด์การลงทุนของกลุ่มฐานเงินฝาก คงหนีไม่พ้นการย้ายไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งพอบอกว่า "ตราสารหนี้" หลายคนอาจจะไม่สนใจ เพราะการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ มักอยู่ในประเภทการลงทุนหรือการออมระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำ และมักไม่มีลูกเล่นหรือหวือหวามากนัก แต่หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้มีการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ได้ไม่จำกัด โดยสามารถลงทุนได้แม้แต่ตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิตเรตติ้ง ต่ำกว่าระดับอินเวสเมนท์(BBB-) แต่จำกัดด้านผู้ลงทุนเฉพาะกลุ่มนักลงทุน Accredited Investor หรือ ไฮเน็ตเวิร์ธ หรือ คนมีเงินระดับ 10-20 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบัน จึงได้รับความสนใจมากขึ้น
โดย นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย )จำกัด กล่าวว่า สำหรับประเด็นเกี่ยวกับกองทุนตราสารหนี้ที่อยากจะเสนอในครั้งนี้ มีแนวคิดมาจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มผันผวนอย่างมาก จึงเห็นการปรับตัวของบริษัทจัดการลงทุน หรือ บลจ. ด้วยการหันไปเปิดกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็กลายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนด้วย และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียภาษี
ซึ่งต้องยอมรับกลุ่มนักลงทุนประเภทนี้มีขนาดก้อนเงินหมุนเวียนมหาศาลทีเดียวตกปีละ 2-3 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่จะนิยมลงทุนไม่นาน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้น หรือพูดง่ายคือเป็นกลุ่มเงินฝากนั่นเอง ซึ่งปีนี้ตราสารหนี้ที่นิยมลงทุนกันคือ บราซิล ตุรกี และอาเจนตินา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศใหม่ที่ยังต้องการเงินทุนในการพัฒนาประเทศ ผลตอบแทนประมาณ 3-3.5 % ต่อปี สูงกว่าประมาณ 1-1.5 % ของตราสารหนี้ในประเทศที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 2.5% ต่อปี ซึ่งส่วนต่างระดับนี้ เศรษฐีที่มีเงิน 10-20 ล้านบาทถือว่ามีนัยสำคัญมาก ทำให้ปีนี้จึงได้รับความนิยมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้านความเสี่ยงก็มี คือ นักลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่ากองทุนนี้ คือกองทุนตราสารหนี้แบบ High Yield ต้องบอกก่อนว่าชื่อของกองทุนอาจไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าตราสารที่ไปลงทุนนั้น เป็นตราสารหนี้มาจากประเทศใด บอกเพียงเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่านำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ประเทศอะไร และสัดส่วนของตราสารหนี้แต่ละประเภทเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเรารับได้ไหม????
ยังไม่หมดนะครับก่อนจะลงทุนนักลงทุนจะต้องเซ็นยินยอมในสัญญาอยู่หนึ่งฉบับ ที่มีรายละเอียดระบุข้อมูลความเสี่ยงเพิ่มเติมมากขึ้นจากกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารระดับที่เป็น Junk Bond, ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนและส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์, ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากเป็นการลงทุนต่างประเทศ และความเสี่ยงจากสภาพคล่องเพราะตราสารที่เป็น Non - Investment Grade อาจจะไม่มีนักลงทุนสนใจซื้อขายมากนัก และความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ อย่างนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังไม่ปรากฏว่า กองทุนรวมตราสารหนี้แบบ High Yield ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหมายเอาไว้เลย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
ข่าวเด่น