ธนาคารออมสินและหน่วยงานพันธมิตร 6 องค์กร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย “โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และ นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การบันทึกความร่วมมือ “การส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs และผู้ประกอบการ รายย่อย กลุ่มที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจหรือที่มีนวัตกรรม มีโอกาสที่จะเติบโต แต่ขาดแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ และไม่มีระบบที่จะเข้ามาสนับสนุน ให้ได้รับความช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)
“โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการนี้ระบุว่า ในจำนวนกลุ่ม SMEs กว่า 2 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็น SMEs ขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน มีความพร้อมในด้านผลิตภัณฑ์แต่ขาดความรู้ด้านการบริหารทางการเงิน การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือขาดโอกาส ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากขาดความพร้อมด้านหลักฐานทางการเงิน เพื่อให้สามารถต่อยอดจากวิสาหกิจขนาดย่อมหรือวิสาหกิจชุมชน ขึ้นไปเป็นบริษัทหรือธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคตได้ ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่ให้ความสนับสนุน SMEs มาอย่างต่อเนื่อง และมีความรู้จัก SMEs เป็นอย่างดีในการคัดเลือก SMEs ที่มีศักยภาพ เพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยขาดจุดเชื่อมต่อในส่วนตรงนี้”
ดร.ธัชพล กล่าวต่อไปว่า ธนาคารออมสินจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างครบวงจรทั้งในรูปการให้สินเชื่อและเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งในแบบหลังยังไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในประเทศไทย ส่วนหน่วยงานพันธมิตร 6 แห่ง จะทำหน้าที่คัดกรองลูกค้าที่ผ่านกระบวนการนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ องค์กรทั้งหมดจะร่วมมือและผนึกพลังกันในการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาการสนับสนุนที่จำเป็นทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการการตลาด ระบบการเงิน และ ระบบขนส่ง ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการให้ได้รับการพัฒนา สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปด้วย
“โดยความร่วมมือจะมีระยะเวลา 5 ปี หากโครงการดำเนินงานได้อย่างสัมฤทธิผลก็จะมีการพิจารณาความร่วมมือกันต่อไป เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หน่วยงานพันธมิตรคัดกรองและพร้อมส่งให้ธนาคารออมสิน คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 12,000 ราย ซึ่งธนาคารออมสินได้จัดเตรียมวงเงินไว้รองรับในเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาผลักดันโครงการความร่วมมือนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด” ดร.ธัชพล กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น