เมื่อเวลาฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ต่างๆผ่านรอบแรกมาแล้ว ก็เป็นรอบน็อกเอาต์ที่ไม่มีคำว่าเสมออีกต่อไป หากการเล่นในเวลา 90 นาทีแล้ว ยังเสมอกัน ก็ต้องต่อเวลาอีก 30 นาที หากต่อเวลาแล้วยังเสมอกันอีก ก็ถึงเวลาของการดวลจุดโทษ
และหากต้องตัดสินกันด้วยการดวลจุดโทษจริงๆ สำหรับกองเชียร์ก็ว่าใจเต้นแล้ว แต่สำหรับนักฟุตบอลแล้ว ดูจะเครียดยิ่งกว่า เพราะเป็นช่วงเวลาที่เผชิญกับความกดดันอย่างสูง ความผิดพลาดอาจตามหลอกหลอนบางคนไปตลอดชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งผู้เล่นบางรายก็ปฏิเสธเป็น 1 ใน 5 รายชื่อดวลเป้า เว้นแต่จะจำเป็นหรือถึงคิวของตนเองเมื่อเป็นคนสุดท้ายอย่างเช่นกรณีของ "ติอาโก ซิลวา" กัปตันทีมชาติบราซิล
"การเตะจุดโทษต่อหน้าแฟนบอลตัวเองเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมได้แต่ร้องขอพระเจ้าว่าตนเองจะไม่ถูกเลือก" ซิลวากล่าวหลังจากบราซิลชนะชิลี 3-2 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังเสมอเสมอ 1-1 ใน 120 นาที
ผู้ที่ชื่นชอบการดวลจุดโทษมักจะมีจากนักเตะตำแหน่งกองหน้า กองกลางที่รับหน้าที่นี้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่กองหลังหลายรายมักจะได้เห็นการเตะลูกนิ่งไม่กี่ครั้ง และต่อให้เป็นกัปตันทีมก็ไม่ได้แปลว่าเมื่อถึงเวลาดวลกับผู้รักษาประตูแบบ 1 ต่อ 1 แล้ว จะทำได้ดีเสมอไป การออกตัวไม่ทำหน้าที่ก็อาจเป็นการทำหน้าที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งเมื่อรู้ดีว่าตนไม่เหมาะ
"ผมยิงลูกโทษพลาด 2 จาก 3 ครั้งล่าสุด หลุยส์ เฟลิเป สโกลารี (โค้ชบราซิล) ขอให้ผมยิงลำดับที่ 6 ผมตอบว่าไม่ ผมขอเป็นคนสุดท้ายต่อจากฮูลิโอ เซซาร์ ผู้รักษาประตูดีกว่า" นี่คือคำพูดของ ซิลวา
บราซิล ถือเป็นหนึ่งในชาติที่ดวลจุดโทษดีที่สุดในฟุตบอลโลกชาติหนึ่ง ชนะ 3 ครั้งในปี 1994, 1998 และ 2014 มีแพ้หนเดียวเท่านั้นในปี 1986
ซึ่งมีทีมเดียวที่ทำได้ดีกว่าก็คือ เยอรมนี ซึ่งชนะในฟุตบอลโลกหมดทั้ง 4 ครั้งในปี 1982, 1986, 1990 และ 2006
สิ่งที่ทำให้เยอรมนีเป็นยอดทีมแห่วงการดวลจุดโทษว่ากันว่า มาจากการเก็บข้อมูลของคู่แข่งมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้รักษาประตูจะมีโอกาสดักทางถูกมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มนักเตะก็มีการซ้อมยิงจุดโทษเป็นประจำ แต่โค้ชหลายคนก็เชื่อว่า การซ้อมยิงจุดโทษแทบจะไม่มีประโยชน์เลย
เพราะไม่มีใครสามารถจำลองสถานการณ์แห่งความกดดันได้
โค้ชบางคนจึงอาจมีเพียงนักเตะที่เลือกไว้ในใจเท่านั้น และให้ลงไปชี้ชะตากันในสถานการณ์จริง โดยที่ก่อนเกมการแข่งขัน อาจไม่มีการซ้อมยิงจุดโทษเลย
ข่าวเด่น