ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดแผนธุรกิจเอสเอ็มอีครึ่งปีหลัง เตรียมกวาดลูกค้าไซส์เล็ก ดันลูกค้าเปิดตลาดอาเซียน ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 22% ปีนี้
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการทำธุรกิจสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ครึ่งหลังของปี 2557 นี้ ธนาคารมีความพร้อมเต็มที่ในการบุกขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กเข้ามาในพอร์ต เพิ่มเติมจากเดิมที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ติดตั้งระบบสกอร์การ์ด ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์สินเชื่อเอสเอ็มอีรายเล็ก ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กมีศักยภาพอย่างมากในการเติบโต และเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศซึ่งธนาคารต้องการให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกัน ธนาคารจะใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายทั่วอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบีเข้าไปช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปเออีซี เนื่องจากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่เท่านั้น
“การเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีในการไปเปิดตลาดอาเซียนทำได้ยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และท้าทายกว่ามาก ธุรกิจรายใหญ่ต่างมีแผนไปอาเซียนกันอยู่แล้ว แต่สำหรับเอสเอ็มอีเรียกว่า ยิ่งกว่าท้าทาย ธนาคารมีต้นแบบบ้างแล้วจากการเข้าไปทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีหลายราย และจะช่วยลูกค้าที่สนใจแต่ไม่รู้จะไปอย่างไร เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารได้พาลูกค้าเอสเอ็มอีไปอินโดนีเซียเพื่อพบปะกับเอสเอ็มอีจากประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปเปิดตลาดจริง” นายจิรัชยุติ์ กล่าว
นายจิรัชยุติ์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับโครงสร้างสายงานพาณิชย์ธนกิจเพื่อตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สำหรับทีมงานหน้าบ้าน ได้แบ่งทีมและกระจายเจ้าหน้าที่ (RM) ไปตามทำเล ประกอบด้วย ทีมภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเขตกรุงเทพฯจะมี 3 ทีมคอยดูแล ขณะเดียวกัน จะมีทีมหลังบ้านที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนทีมขายให้ดูงานหน้าบ้านได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ตรงกลาง ได้มีการเสริมทีมงานเข้ามาใหม่เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนทีมขายคล้ายการติดอาวุธให้ทีม ได้แก่ ด้านพัฒนาและบริหารผลิตภัณฑ์ ด้านการเสริมสร้างทางธุรกิจ (Business Intelligence) นอกจากนี้ ด้านวิเคราะห์สินเชื่อได้รวมเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นทีมที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเน้นให้ความสำคัญด้านเวลา หรือ turnaround time โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขั้นตอนการทำงานและให้บริการแก่ลูกค้าสั้นมากที่สุด ซึ่งทีมนี้เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของแผนก
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สินเชื่อไวจัง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว ด้วยวงเงินหลากหลาย ผ่อนสบาย รู้ผลเร็วใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 300,000 – 20 ล้านบาท วงเงินประกอบด้วย วงเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ระยะยาว (LTL) วงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) หนังสือค้ำประกัน (LG) อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน (Aval) การรับรองตั๋วแลกเงิน (Acceptance) ระยะเวลากู้ 10 ปี หลักประกันที่รับพิจารณาครอบคลุม เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล และอสังหาริมทรัพย์
สินเชื่อไวจัง...เยอะจริง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียน ด้วยวงเงินสูง 3 เท่าของมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการ อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 เท่า โดยใช้บสย.ค้ำประกันวงเงินส่วนที่เกินจากมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 1.5 – 10 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาว (LTL) ระยะเวลากู้ 7 ปี สำหรับหลักประกันครอบคลุม เงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือบัตรเงินฝาก (NCD)
“ธนาคารจะคิดต่าง ทำต่าง ในแบบของเรา ด้วยจุดแข็งของธนาคารที่มี เพื่อตอบสนองลูกค้าให้ได้รับบริการที่ดีที่สุด สำหรับเป้าหมายปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อเติบโต 22% จากปี 2556” นายจิรัชยุติ์ กล่าว
อนึ่ง ธนาคารจัดกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีตามวงเงินสินเชื่อ ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ได้แก่ ลูกค้าวงเงินไม่ถึง 20 ล้านบาท เอสเอ็มอีขนาดกลาง วงเงิน 20-60 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ วงเงิน 60 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ยังดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 พันล้านบาท
ข่าวเด่น