หลังการลอยตัวค่าเงินบาทของไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 หรือ 17 ปีที่ผ่านมา หรือคนทั่วไปเรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย จนส่งผลกระทบลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในเอเชีย หลังจากที่รัฐบาลไทยในสมัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท โดยไม่ผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จนบริษัทของคนไทยหลายแห่งต้องขายกิจการให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการยึดการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำให้หลายฝ่ายอดคิดไม่ได้ว่า ไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เหมือนในช่วงต้มยำกุ้งหรือไม่
ในเรื่องดังกล่าวผู้บริหารจากแวดวงการเงินต่างก็เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่ซ้ำรอย วิกฤตที่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต โดยผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย นายอมรเทพ จาวะลา กล่าวว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนวิกฤตปี 2540 เนื่องจากปัจจุบันใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ ไม่ได้ใช้ระบบตะกร้าเงินเหมือนที่ผ่านมา และปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านบทเรียนราคาแพงมาแล้วเมื่อปี 2540
ขณะเดียวกันการดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาคเอเชีย ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบเรื่องความสามารถทางการแข่งขันทางการค้า
ส่วนแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีหลัง นายอมรเทพ ยอมรับว่า มีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงในช่วงปลายไตรมาส 3 และ 4 จากปัจจัยภายนอก ได้แก่ นโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะหยุดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐเดือนตุลาคมนี้ และอาจเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยมากขึ้น และทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยอาจจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงแตะที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านมุมมอง นายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยอมรับว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 ลูกค้าและสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อที่ขาดคุณภาพเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีรัฐบาลคอยคุ้มครองความเสี่ยง แต่จากบทเรียนดังกล่าว เมื่อรัฐบาลได้ปรับบทบาทด้วยการรับความเสี่ยงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่สถาบันการเงินก็มีการควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้น นับตั้งแต่ลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจไทยได้พัฒนาดีขึ้น จนทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงมั่นใจว่าไทยจะไม่เกิดวิกฤตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ข่าวเด่น