ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2557 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย QoQ หลังธุรกิจหลักเริ่มฟื้น ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารพาณิชย์คงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องเตรียมความพร้อมกับภาวะการแข่งขันที่อาจกลับมารุนแรงขึ้นได้
ประเด็นสำคัญ
•ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 2/2557 มีโอกาสเติบโตจากไตรมาสก่อนได้เล็กน้อย ตามทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ซึ่งช่วยหนุนสินเชื่อให้มีโอกาสเติบโตขึ้นกว่าที่เคยทำได้ในไตรมาส 1/2557 เล็กน้อย ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin) ก็มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น จากการที่ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้ดี นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิก็น่าจะมีการเติบโตจากไตรมาสก่อนดีขึ้นจากผลของภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกัน
•เมื่อมองไปในช่วงครึ่งปีหลัง การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ก็คงทำให้เห็นภาพที่ธนาคารพาณิชย์ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนไป เช่น เน้นเติบโตสินเชื่อและค่าธรรมเนียมสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังอาจต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับภาวะการแข่งขันที่อาจกลับมารุนแรงมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์คงต้องระมัดระวังในการแข่งขันด้านราคา ควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์สภาพคล่อง และคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด
หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการที่ภาครัฐเร่งทยอยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ทั้งมาตรการที่ช่วยเหลือภาคครัวเรือน เช่น การเร่งจ่ายคืนเงินค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หรือ การตรึงราคาพลังงานเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ และมาตรการที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ประสบปัญหาสภาพคล่องในวงกว้าง ก็คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2557 เป็นต้นไป ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งคงส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังความต้องการสินเชื่อให้ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยบางประเภท ดังนั้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2557 นี้ ก็คงส่งผลให้ในไตรมาส 2/2557 นี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีโอกาสที่จะเติบโตรายได้จากธุรกิจหลักได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังมีโอกาสเห็นอัตราการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักที่ชะลอลง จากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อนด้วย
คาดสินเชื่อไตรมาส 2/2557 เติบโต QoQ ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส ขณะที่อัตราส่วน NIM มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีของธนาคารพาณิชย์
สถานการณ์การเมืองที่มีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และการออกมาตรการต่างๆของภาครัฐ ก็น่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2557 เป็นต้นไป ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่ามีโอกาสที่สินเชื่อตามงบการเงินรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย (10 แห่ง) ณ สิ้นไตรมาส 2/2557 จะมีอัตราการเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.4% QoQ เมื่อเทียบกับในไตรมาส 1/2557 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.6% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังอาจเห็นการเติบโตของสินเชื่อ YoY ที่ชะลอลง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน
ในส่วนของอัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) นั้น แม้ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2557 จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลงด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงดังกล่าว ความต้องการสินเชื่อจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีไม่มากนัก บวกกับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เอง ก็ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลยุทธ์ระดมเงินฝากโครงการพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากนัก และสามารถที่จะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ได้ ซึ่งคาดว่าการที่ธนาคารพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ สอดรับกับผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลงนั้น น่าจะส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับไตรมาส 2/2557 มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเมื่อผนวกกับสินเชื่อที่เติบโตเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ก็คงส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/2557 นี้มีโอกาสกลับมาเติบโต QoQ ในแดนบวก หลังจากที่ในไตรมาส 1/2557 หดตัวลง อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้อัตราส่วน NIM จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอาจเห็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสำหรับไตรมาส 2/2557 มีอัตราการเติบโต YoY ที่ชะลอลง จากผลของสินเชื่อที่ชะลอลง YoY
นอกจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่มีโอกาสเติบโตดีขึ้น QoQ แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 2/2557 น่าจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมสุทธิในไตรมาส 2/2557 มีโอกาสพลิกกลับมาเติบโต QoQ ในแดนบวกได้หลังจากที่ในไตรมาส 1/2557 มีการหดตัวลง
นอกจากรายได้ดอกเบี้ยแล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมก็ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์เช่นกัน โดยในไตรมาส 1/2557 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ก็ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมที่มาจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบัตร รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอลงด้วย ซึ่งส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2557 หดตัวลงที่ 2.3% QoQ และมีการเติบโตเพียง 0.8% YoY
สำหรับในไตรมาส 2/2557 นั้น คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น QoQ จากทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส โดยมีโอกาสพลิกกลับมาเติบโตในแดนบวกได้ จากที่หดตัวลง QoQ ในไตรมาส 1/2557 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบ YoY แล้ว ผลของฐานที่สูงในปีก่อน อาจส่งผลให้มีโอกาสเห็นรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิสำหรับไตรมาส 2/2557 หดตัวลง YoY
สำหรับการตั้งสำรองหนี้สูญในไตรมาส 2/2557 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2557 โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการติดตามและบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ประกอบกับมีการออกผลิตภัณฑ์ต่างๆออกมาช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น จะเห็นว่าในช่วงไตรมาส 1/2557 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีการปรับระดับการตั้งสำรองลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้มีการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2557 ก็คาดว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงระดับการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit Cost) ที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2557 โดยน่าจะยังส่งผลให้สัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงต้นปี ส่งผลกระทบให้ธนาคารพาณิชย์มีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2557 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อรายย่อย ทั้งนี้ สำหรับไตรมาส 2/2557 นี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น บวกกับมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งยังมีการออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาอีกด้วย ดังนั้น จึงคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นไตรมาส 2/2557 แม้ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2557 แต่น่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งคงส่งผลให้คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/2557 ซึ่งอยู่ที่ 2.71% ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ก็คาดว่าประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพหนี้น่าจะผ่อนคลายลงไปบ้างในช่วงที่เหลือของปี
มองไปในช่วงครึ่งปีหลัง : ธนาคารพาณิชย์คงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องเตรียมความพร้อมกับภาวะการแข่งขันที่อาจกลับมารุนแรงขึ้นได้
แม้ในไตรมาส 2/2557 นี้ อาจยังไม่เห็นการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเริ่มทยอยเห็นผลในช่วงครึ่งหลังของปี โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการของสินเชื่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจน่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็คงต้องเตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงภาวะการแข่งขันที่อาจกลับมาสูงขึ้นด้วย
•การสร้างรายได้ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี คงยังเป็นแนวทางที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งใช้เป็นกลยุทธ์หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีจะเป็นปัจจัยหนุนให้มีความต้องการในสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ในขณะเดียวกัน แรงผลักทางเศรษฐกิจผนวกกับการออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ก็น่าจะหนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ท่ามกลางนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่น่าจะยังคงความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
•การเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียม คงต้องเน้นรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะกลับมาปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีโอกาสจะเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ รายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้า (ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน การขายประกัน) รายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มบัตรเดบิต เอทีเอ็ม และบริการ e-Banking ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) คงจะต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามคาดมากน้อยเพียงใด
นอกจากการปรับกลยุทธ์ในการเติบโตรายได้เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์คงต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยท้าทายที่จะตามมาเช่นเดียวกัน
•ภาวะการแข่งขันกันด้านราคาอาจเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจเริ่มเอื้ออำนวยต่อการปล่อยสินเชื่อและธุรกิจด้านค่าธรรมเนียม จึงมีโอกาสที่จะเห็นธนาคารพาณิชย์ต่างๆอาจเริ่มลดผลตอบแทนที่จะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมายลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดไว้ นอกจากนี้ ยังอาจเห็นธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญแข่งขันด้านค่าธรรมเนียมในการให้บริการทางการเงินบางประเภท เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าสำหรับต่อยอดในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆด้วย ทั้งนี้ แม้การแข่งขันด้านราคาดังกล่าว มีโอกาสชัดเจนขึ้น แต่คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะยังคงเลือกใช้กลยุทธ์นี้อย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อรายได้หลักของธนาคารในวงกว้าง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว
•ติดตามประเด็นสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งคงเห็นความต้องการใช้สภาพคล่องที่ทยอยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากผลของความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องระดมเงินฝากมากขึ้น ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินหน้าโครงการลงทุนของรัฐ หรือโครงการช่วยเหลือต่างๆที่เป็นความรับผิดชอบของธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการระดมเงินออมเพิ่มเติมผ่านการระดมเงินฝากและ/หรือตราสารทางการเงินต่างๆ อันล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นติดตามถึงขนาดและจังหวะของการระดมทุนแหล่งเหล่านั้น เพื่อประเมินผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการระดมเงินออมมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว และปัจจัยด้านฤดูกาล (การออกผลิตภัณฑ์เพื่อลดหย่อนภาษี) ท้ายปี ก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยสูงหนาตามากขึ้น เพื่อแข่งขันกับการระดมเงินจากภาคส่วนอื่น ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ก็คงต้องเตรียมความพร้อมและเน้นปรับกลยุทธ์ให้รายได้เติบโตได้มากขึ้น เพื่อรองรับต้นทุนที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้น เช่นกัน
กล่าวโดยสรุป สภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2557 หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น บวกกับมีการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้คาดว่าในไตรมาส 2/2557 นี้ ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น QoQ โดยทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิมีโอกาสที่จะมีอัตราการเติบโต QoQ สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2557 นอกจากนี้ ธนาคารบางแห่งยังอาจมีการบันทึกรายการพิเศษ ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ธุรกิจหลักเติบโตขึ้น QoQ ด้วย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ภาพรวมของกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2557 ก็อาจมีอัตราการเติบโต QoQ ที่ชะลอลง เนื่องจากในไตรมาส 1/2557 กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์เติบโตได้ดี QoQ จากผลของการปรับลดการตั้งสำรองหนี้สูญลง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการเติบโตของรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จะพบว่า จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน ก็อาจทำให้เห็นอัตราการเติบโตของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิในไตรมาส 2/2557 ชะลอลงจากไตรมาส 1/2557 แม้ว่าอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ YoY มีโอกาสเติบโตดีขึ้นเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองหนี้สูญลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในไตรมาส 2/2556 ซึ่งหลายธนาคารมีการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical provisioning) ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อมองไปในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะกลับมาดีขึ้น และเตรียมรับมือกับภาวะการแข่งขันด้านราคาที่อาจกลับมารุนแรง รวมถึงภาวะที่สภาพคล่องในระบบอาจกลับมาตึงตัว ธนาคารพาณิชย์คงต้องปรับกลยุทธ์เน้นการสร้างรายได้กับกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจให้มากขึ้น เช่น เน้นการเติบโตสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ คงต้องระมัดระวังการแข่งขันด้านราคา ควบคู่กับการติดตามสถานการณ์สภาพคล่อง และคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิดด้วย
ข่าวเด่น