สสปน.มองครึ่งหลังปี 57 ธุรกิจไมซ์สดใส ฟื้นราว 10% จากที่ติดลบ 20% ปรับกลยุทธ์กระตุ้นจัดงานในชาติจากธุรกิจและหน่วยงานราชการและเน้นโฟกัสเพื่อนบ้านเอเชียและอาเซียนแทนอเมริกาและยุโรปจับมือต้านรัฐประหาร โชว์ฝีมือดึงงานยักษ์ “งานหุ่นโลก” มาถิ่นไทย แทนปราก ปลายพ.ย.
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานการตลาด สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน.(Thailand Convention & Exhibition Bureau - TCEB) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจไมซ์ (MICE) ในครึ่งหลังปี 2557 มีแนวโน้มจะดีขึ้นราว 10% จากที่ติดลบอยู่ 20% นับจากต้นปี ผลจากไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการเมืองก่อนจะมีรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มากมายเพื่อดึงนักเดินทางและกระตุ้นกิจกรรมจัดการประชุมและนิทรรศการภายในประเทศและจากย่านเอเชียและอาเซียนเป็นสำคัญ
นางศุภวรรณกล่าวว่า อุตสาหกรรม MICE (MEETING INTENCIVE CONVENTION AND EVENTS) เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับนักธุรกิจ นักเดินทางที่เข้ามาไทยเพื่อร่วมเวทีการประชุม การจัดแสดงนิทรรศการ งานแสดงสินค้านานาชาติหรือท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยมีเป้าหมายมุ่งดึงนักเดินทางที่เป็นชาวต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งแต่ละปีมีนักเดินทางกลุ่มนี้เข้ามาประมาณ 9 แสนถึง 1 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 10-11% ของธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นนักเดินทางคุณภาพเพราะเมื่อมาแล้วมีการใช้จ่ายต่อหัวเป็นมูลค่าสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป อยู่ประมาณ 8 หมื่นถึง 1.2 แสนบาทต่อราย เมื่อเทียบกับเพียงประมาณ 2-3 หมื่นบาทของนักท่องเที่ยวไทยและเอเชียทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2551 ที่มีการปิดสนามบิน ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น คนเดินทางออกไม่ได้ แต่ สสปน.ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์มาได้ ในปี 2554 มาเกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นอีก แต่อุตสาหกรรมไมซ์ก็ฟื้นตัวมาได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งในปี 2556-2557 เกิดวิกฤตการณ์การเมืองยืดเยื้อทำให้ลูกค้าต่างชาติไม่มั่นใจว่าจะจบอย่างไร ซึ่งทาง สสปน.ไม่สามารถให้คำตอบได้ หลังเหตุการณ์เริ่มมีความรุนแรง รัฐบาลมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาจนถึงการเกิดรัฐประหารยิ่งสร้างความไม่มั่นใจ ต่างชาติกลัว นับจากเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2557 มีการยกเลิกการประชุมและการจัดงาน ซึ่งงานที่จะมีชาวต่างประเทศเดินทางมาระหว่าง 500 คนถึง 1 หมื่นคนยกเลิกไป เมื่อยกเลิกงานทำให้คนเดินทางหายไปด้วย สร้างความเดือดร้อนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรมจะเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงธุรกิจที่ต่อยอดได้
“การเกิดรัฐประหาร แม้ประชาชนจะรู้สึกอบอุ่น แต่ต่างประเทศมองว่า การที่ทหารเข้ามาไม่ใช่ประชาธิปไตย มองว่าเป็นการลดทอนสิทธิมนุษยชนและมีเรื่องของเผด็จการเกิดขึ้น ประชาธิปไตยของพวกเขาคือ การเลือกตั้ง ดังที่มีการต่อต้านจากสหรัฐและสหภาพยุโรป(EU) สิ่งที่ สสปน.ต้องทำตอนนี้คือ ต้องชี้แจงว่า ประเทศต้องแก้ปัญหาภายในก่อน เพื่อที่จะได้เป็นประชาธิปไตย ต้องให้ข้อมูลเป็นระยะ ๆ แต่เขายังไม่เข้าใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ธุรกิจยังดำเนินไปตามปกติ คนยังมาได้เป็นปกติ เคอร์ฟิวส์ก็ไม่มีแล้ว ทุกคนทำงานตามปกติ การคมนาคมขนส่งเหมือนเดิม แบงก์ไม่มีหยุด นักเรียนไม่ได้หยุด โรงเรียนไม่ได้ปิด เราก็เลยมองว่า ไม่เป็นไรถ้าสหรัฐและยุโรปไม่มาช่วงนี้ เราก็เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปหาคนที่เขารักเราและเข้าใจเราดีกว่าไหม“
ทั้งนี้ สสปน.ปรับกลยุทธ์โฟกัสที่นักเดินทางคุณภาพลดลง แต่หันไปโฟกัสนักเดินทางในประเทศ ในเอเชียและอาเซียนเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่า ในครึ่งหลังของปี 2557 นี้สถานการณ์จะดีขึ้นทำยอดที่เคยติดลบ 20% ให้ปรับฟื้นมาได้ประมาณ 10% ทั้งในแง่ของปริมาณคนและรายรับของประเทศ หลังการทำงานของสสปน.ในปี 2556 ที่ผ่านมา สามารถดึงนักเดินทางได้มากกว่า 1 ล้านคนมาร่วมงานประชุม การจัดแสดงสินค้าและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับที่ สสปน.ได้รับงบประมาณสนับสนุนการทำงานจากรัฐบาลเพียง 880 ล้านบาท
นางศุภวรรณกล่าวต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ที่จะดีขึ้น ยังมาจากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงสิ้นปีจะเป็นช่วงของ Peak Season หรือช่วงที่จะมีการจัดงานกันมากด้วย การดำเนินการในประเทศ ทาง สสปน.ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการชักชวนให้องค์กรบริษัทและหน่วยงานราชการต่าง ๆ จัดการประชุมในประเทศมากกว่าเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของราชการนี้คาดว่าจะดีขึ้นประมาณ 5-10% จากเป้าเดิมของปี 2557 อยู่ที่ 14% ขณะเดียวกัน สสปน.ยังเพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจโดยแต่งตั้งหัวเมืองหลัก ๆ อีก 4 เมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า MICE CITY เพื่อให้มีคุณภาพเป็นเจ้าภาพรองรับการกระจายการจัดงานต่าง ๆ ได้นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อโปรโมทเมืองอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นกิจกรรม DOMESTIC MICE MART ที่มีการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในหัวเมืองต่าง ๆ โดยผู้ขายได้แก่ โรงแรม ผู้ประกอบการ และเอเยนต์จัดงาน ผู้ซื้อได้แก่ บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่จะประชุมกันเอง และอยากจะจัดงานให้มาเจอกัน โดยหัวเมืองเหล่านั้นได้แก่ เมืองที่อยู่รอบ ๆ เมืองศูนย์กลางใหม่ทั้ง 4 แห่งดังกล่าว และเมืองตามแนวตะเข็บชายแดน เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคายและเชียงราย เป็นต้น
นางศุภวรรณกล่าวด้วยว่า การทำงานของ สสปน.จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย เพราะอุตสาหกรรมไมซ์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเอสเอ็มอี ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีการจัดงานประชุมหรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ด้วย เกิดการกระจายรายได้ของเศรษฐกิจในเมืองและเอสเอ็มอี เช่น ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารและของที่ระลึก และเอสเอ็มอียังสามารถที่จะเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ธุรกิจไมซ์เพิ่มได้จากเดิมที่อาจเน้นเพื่อการส่งออก
ขณะเดียวกัน สสปน.ยังเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วย โดยมีโครงการรองรับ AEC เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถมีศักยภาพ มีทางเลือกของฝีมืออาชีพและการตลาด
“วิธีการคือ ให้ความรู้ โดยปัจจุบันได้จัดทำคู่มือทำธุรกิจไมซ์ใน AEC เพื่อให้รู้ว่าแต่ละประเทศมีลักษณะอย่างไร จะหาลูกค้าได้อย่างไร กฎระเบียบ กฎหมายการลงทุนเป็นอย่างไร พร้อมจัดเดินทางไปประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อจับคู่ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันคนไทยไปทำธุรกิจไมซ์ในเมียนมาร์ค่อนข้างมาก รวมถึงกัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ผู้ที่ทำธุรกิจจัดงาน ทำธุรกิจก่อสร้างบูธ ก็ไปหาพาร์ทเนอร์เพื่อทำธุรกิจ พาผู้ประกอบการไปเปิดตัวในอาเซียน จัดกิจกรรมประชุมเพื่อแนะนำประเทศไทยให้มาจัดงาน ประชุม หรือกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อรางวัล ซึ่งจะมีการจัดโรดโชว์ทุกปีในกลุ่มอาเซียน +6 รวม จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่เป็นเป้าหมายหลัก แต่ถ้าเป็นในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่มาไทยเป็นกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ มาเลเซีย และ สิงคโปร์
ขณะเดียวกัน สสปน.ยังร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนามาตรฐานช่างฝีมือ เพื่อให้แรงงานฝีมือที่จะเข้ามาทำงานในไทยต้องผ่านการรับรองด้วยใบอนุญาตเพื่อปกป้องสิทธิให้กับแรงงานไทย และยังมีโปรแกรมสอนด้านการประชุม หลักสูตรอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของต่างประเทศเพื่อเป็นใบเบิกทางให้คนไทยสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้เลย”
มุ่งเจาะเฉพาะเมืองสหรัฐ-ยุโรป
สำหรับการปรับแผนการทำงานในส่วนของต่างประเทศ สสปน.ไม่ได้ทิ้งไปแม้จะมีปัญหาต่อต้านรัฐประหารจากสหรัฐและสหภาพยุโรปหรืออียู แต่เป็นการทำกิจกรรมแบบเฉพาะเจาะจง โดยไปเยี่ยมแต่ละเมืองและทำกิจกรรมที่ลดขนาดลง นอกจากนี้ สสปน.ยังไปร่วมในงานเทรดโชว์ระดับโลกอยู่ ปัจจุบันในโลกธุรกิจไมซ์มีงานเทรดโชว์อยู่ 9 ที่ทั่วโลก และ สสปน.ยังรักษาตลาดตรงนี้ไว้อยู่ ซึ่งเป็นตลาดยุโรปและอเมริกา ในทางกลับกันได้หันมาเน้นทำกิจกรรม โรดโชว์พาผู้ประกอบการไปในตลาดอาเซียนและเอเชียเพิ่มขึ้นและให้ข้อมูล อัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
นางศุภวรรณกล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ สสปน.กำลังทำในขณะนี้ คือ มองหางานอีเวนต์ที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ สัมภาษณ์ผู้จัดงานดัง ๆ ของโลกที่จัดในเมืองไทยและประสบความสำเร็จว่าเพราะเหตุใดถึงยังมีความมั่นใจในประเทศไทย หรือสัมภาษณ์นักธุรกิจหรือผู้มีอิทธิพลที่มาร่วมงานจริงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ
“ตัวอย่างงานที่จะไปสัมภาษณ์ เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร หรือ THAIFEX-World of food ASIA 2014 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ของกรมส่งเสริมการส่งออกที่จัดคู่กับบริษัท โคโลญ เมสเซ ผู้จัดงานแสดงอาหารระดับโลกจากประเทศเยอรมนี งานมียอดผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นถึง 20% สัมภาษณ์ไปแล้ว ซึ่งเขามองว่า เป็นงานสำคัญที่นักธุรกิจต้องมาและปัญหาบ้านเมืองของไทยไม่ใช่สิ่งสำคัญ ส่วนงานด้านพลังงานที่มียูบีเอ็มจากอังกฤษเป็นผู้จัด เป็นอีกงานที่มีผู้มาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 20% เช่นกัน นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่มาตอบว่า เพราะมองว่าไทยเป็นฮับ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจด้านนี้ ถ้าพวกเขาไม่มาก็จะพลาดโอกาสไป เสียโอกาสทางธุรกิจไป หรือการประชุมดัง ๆของโลก ถ้าไม่มาก็ต้องรอไปอีกปี กลุ่มนี้จะไม่รอ แต่การประชุมระดับบริษัทหรือองค์กรและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลจะอ่อนไหวง่ายกว่า ตัดสินใจยกเลิกง่ายกว่าและพร้อมที่จะไปจัดประเทศอื่นได้ทันทีที่ไทยมีปัญหา”
ดึงงาน “หุ่นโลก” มาไทย พ.ย.
นางศุภวรรณกล่าวว่า ประเทศที่ สสปน.จะไปเชิญชวนให้เข้ามาจัดงานในไทยเป็นชาติแรก ๆในกลุ่มชาติเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่จะนำเสนอนั้น มีทั้งธุรกิจการประชุม ธุรกิจการแสดงสินค้านานาชาติ และธุรกิจเมกะอีเวนต์ ตัวอย่างการเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆนี้ เป็นงานอีเวนต์ โดยไปคุยกับผู้จัดงาน “โตเกียว ดีไซเนอร์ วีค” ที่เขาไปจัดฝรั่งเศสและสิงคโปร์เพื่อดึงให้เขามาจัดที่เมืองไทย หรืองาน “โตเกียวฟิล์ม เฟสติวัล” ดึงให้เขามามีพาวิลเลียนในงานของเรา
ทั้งนี้จากความสำเร็จในการเจรจาทำให้ไทยจะมีงานใหญ่งานหนึ่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ งาน “หุ่นโลก” ซึ่งเป็นงานแสดงหุ่นชักระดับโลกที่เคยจัดในกรุงปรากในสาธารณรัฐเช็ก ทว่าปีนี้จะย้ายมาจัดในไทย เหมือนโคลนนิ่งงานปรากมาไทย โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพจัดงานในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะมีหุ่นชักมากกว่า 140 คณะจาก 44 ประเทศเข้าร่วม เฉพาะของไทยเองมีทั้งหมด 68 คณะ โดยกรุงเทพมหานครและกระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมแถลงเปิดตัวงานดังกล่าวในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ณ วังสวนผักกาด
“เราเชิญคนที่ได้ไลเซนต์จัดงานที่ปรากมาชมว่า กรุงเทพบริเวณสนามหลวงมีภูมิทัศน์เหมือนปราก มีหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ โรงละครแห่งชาติอยู่รอบ ๆ เหมือนกัน มีพื้นที่สำหรับจัดเวทีกลางแจ้งเพื่อแสดงหุ่น งานนี้มีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทยและจากอาเซียนบ้าง แต่ไทยจะได้เผยแพร่ภาพ ได้โปรโมทการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและโปรโมทหุ่นไทย ซึ่งเคยไปคว้ารางวัลจากงานหุ่นโลกที่ปรากเช่นกัน”
10ปีข้างหน้าธุรกิจไมซ์เปลี่ยน มอง“เมือง”แทน “ประเทศ”
ในโอกาสเดียวกัน นางศุภวรรณยังคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจไมซ์ใน 10 ปีข้างหน้าว่าจะเปลี่ยนไป โดยแม้ธุรกิจด้านนี้ยังดำเนินต่อไป ทว่ารูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้คนจะรู้จักหรือพูดถึง “ประเทศ”น้อยลง แต่ใช้ชื่อ “เมือง”แทน เช่น พูดถึง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือพัทยา เป็นต้น
“ถือเป็นเทรนด์ของโลก ที่จะมีการมองที่จุดเล็ก ๆ จึงต้องมีการพัฒนาหรือโปรโมทเมืองและจุดหมายปลายทางต่าง ๆ” นางศุภวรรณกล่าวตบท้าย
ข่าวเด่น