ธ.ก.ส.ร่วมลงนามสภาเกษตรกรแห่งชาติในการใช้ทรัพยากรและความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกร นำร่องการสร้างมูลค่าเพิ่มในพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด เตรียมงบ 25,000 ล้านบาท หนุนสินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมจัดสัมมนาเข้มเพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน
วันนี้ (8 กรกฎาคม 2557) ณ โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสององค์กร ในการพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับการจัดการ ทั้งการวางแผนการจัดการปัจจัยการผลิต รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกร องค์กรและสถาบันของเกษตรกร ในฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิต ให้เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดกลับคืนสู่เกษตรกร
นายอดุลย์กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับจังหวัด ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนงานดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายจึงได้ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ การบูรณาการยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรในระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2557
โดยหัวข้อการเสวนาเป็นการนำเสนอต้นแบบการส่งเสริมเกษตรกรในทิศทางอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มสินค้าเกษตร ประกอบไปด้วย หัวข้อเรื่อง อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์ ข้าวและการพัฒนาสองแนวทาง บันไดสามขั้นของการพัฒนามันสำปะหลัง อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า (ชีวมวล/แสงอาทิตย์) และอุตสาหกรรมสกัดปาล์มน้ำมัน ซึ่งหัวข้อดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของของ ธ.ก.ส.และสภาเกษตรกรแห่งชาติในการผลักดันให้เกษตรกรได้มีโอกาสขายผลผลิตในรูปผลิตภัณฑ์แทนที่การขายในรูปวัตถุดิบราคาถูกแบบเดิมโดยเฉพาะสินค้าเกษตร 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและพลังงานทดแทน
“การดำเนินการในครั้งนี้นอกจากก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรกับธ.ก.ส.ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเกิดกระบวนการขับเคลื่อนโดยเกษตรกรและชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพต่อเนื่อง โดยการประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตของตนเองเป็นการส่งเสริมให้เกิด “เกษตรอุตสาหกรรม” ถือเป็นการทวงคืนความมั่งคั่งสู่เกษตรกร โดยในส่วนของธ.ก.ส.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนด้านเงินทุนครบวงจรผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Chain) ตามห่วงโซ่อุปทานที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทในปีนี้” นายอดุลย์กล่าว
ข่าวเด่น