ด้วยปัจจุบันมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการโดยเฉพาะการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีการโอนให้กันได้ โดยมีชื่อเรียกกันว่า "Bitcoin" (บิทคอยน์) รวมถึงหน่วยข้อมูลที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Litecoin, Peercoin, Namecoin ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาเตือนประชาชน ห้ามใช้ "เงินบิทคอยน์" ซื้อขายแลกเปลี่ยน เพราะไม่ใช่เงินตามกฏหมายไทย
ทั้งนี้ เงินบิทคอยน์ และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีลักษณ์ใกล้เคียงกัน ธปท.ให้ข้อมูลว่า เกิดจากกลไกทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกกำหนดไว้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งหวังจะใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากกลไกดังกล่าว จะถูกจัดเก็บเอาไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ แลปท้อป หรือ สมาร์ทโฟนของผู้ใช้ และสามารถโอนให้กันได้ และต่อมาเริ่มมีการนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่าใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวซื้อขายสินค้าได้ รวมถึงมีการนำมาแลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลต่างๆ
โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกันเองในกลุ่มคนที่มีระบบทางคอมพิวเตอร์รองรับการจัดเก็บและโอนหน่วยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งความเสี่ยงในการถือครอง Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ลักษณะใกล้เคียง คือ จากลักษณะของหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มูลค่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เริ่มมีการถือเพื่อเก็งกำไร
ทั้งนี้ ธปท. ยังแนะนำให้ระมัดระวังศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการถือครองหรือใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เนื่องจาก
1. หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย การใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ จึงอาจถูกปฏิเสธจากร้านค้าได้
2. มีความเสี่ยงจากการที่มูลค่าหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผันแปรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากความต้องการแลกเปลี่ยนในกลุ่มของผู้ใช้ด้วยกัน มูลค่าจึงมีความผันผวนสูง และไม่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจจริง
ผู้ถือครองหน่วยข้อมูล จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินจากการที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และหากร้านค้าใดรับหน่วยข้อมูลดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการของตน ก็อาจมีความเสี่ยงที่หน่วยข้อมูลที่ได้รับมาและถือไว้นั้น อาจมีมูลค่าหรือราคาลดต่ำลงได้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วจากมูลค่าหรือราคาเดิม ณ ขณะที่ตนได้รับมา
3. มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูล เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะต้องจัดเก็บไว้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ถือครองอาจสูญเสียหน่วยข้อมูลดังกล่าวได้ จากการถูกลักลอบโจรกรรมข้อมูล
4. มีความเสี่ยงที่ผู้ใช้ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นสื่อการชำระเงินตามกฎหมาย ดังนั้นหากมีการใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงหรือฉ้อโกง หรือกรณีที่เกิดปัญหาในการใช้งาน ไม่สามารถเรียกร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งต่างจากการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการชำระเงินภายใต้การกำกับดูแลของทางการที่มีระบบติดตามได้
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท. กล่าวว่า สาเหตุที่ ธปท. ออกมาเตือนในครั้งนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดในต่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายหรือสิ่งที่ประชาชนพึงระวังในการใช้ Bitcoin หรือหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ Bitcoin จะเริ่มต้นจากแนวคิดที่ดี ซึ่งต้องการลดอุปสรรคและต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน อันจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในยุคดิจิตอลไร้พรมแดน แต่คงต้องยอมรับว่า กลไกนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ในหลายประเด็นเฉพาะหน้า อาทิ ความเชื่อมั่นต่อมูลค่าของ Bitcoin รวมถึงประเด็นด้านความปลอดภัย และการยอมรับให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ดังนั้นแล้ว สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการใช้นวัตกรรมใหม่นี้ คงต้องศึกษาผลดีและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน
ข่าวเด่น