บทความวันนี้น่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่เหล่าบรรดาลูกหนี้และเจ้าหนี้จะได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายในกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการติดตามทวงถามหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ หรือหนี้นอกระบบ เพราะล่าสุดที่ประชุม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557 ได้เห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้...พ.ศ...รวมถึง ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง นำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นลำดับแรกๆ เมื่อมีการจัดตั้งขึ้นมาแล้วเพื่อให้กฎหมายได้ออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
1. เรื่องของเรื่องจากมุมของคนที่เป็นลูกหนี้ก็บอกว่า ผู้ประกอบธุรกิจบริการเรียกเก็บหนี้ ต่างคุกคามสิทธิของลูกหนี้ "อย่างไม่ให้เกียรติ และอาจไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" เพราะต่างมุ่งเน้นไปที่ผลงานว่า เอาเงินที่เป็นหนี้คืนมาให้ได้ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ได้เช่น การเปิดเผยรายชื่อ ด้วยการลงประกาศชื่อโดยมีข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าคนที่ถูกประกาศนั้นเบี้ยวการชำระหนี้ การส่งไปรษณีย์บัตรไปยังที่ทำงาน การโทรศัพท์ไปทวงหนี้หลายครั้ง ในหลายสถานที่ของผู้เป็นลูกหนี้ หรือในหลายบุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ เช่น บิดา มารดา ญาติพี่น้องของลูกหนี้ บางกรณีตามข่าวสารจะระบุว่ามีการใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ดูหมิ่น ดูแคลนทำให้เสียชื่อเสียงทั้งทางตรงทางอ้อม ข่มขู่ ฟ้องร้องกล่าวหาลูกหนี้หรือหากเป็นเจ้าหนี้นอกระบบก็มักจะพบว่ามีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายเพื่อมุ่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ รวมทั้งยังมีการ รวมไปถึง ประเด็นต่อมาคือฝ่ายลูกหนี้คิดว่าแนวปฏิบัติ สำหรับการติดตามทวงถามหนี้ ให้กับบรรดาสถาบันการเงิน หรือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงแต่แนวทางปฏิบัติ ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจน บรรดาเจ้าหนี้ไม่ได้ทำตามอย่างเคร่งครัด
2. เรื่องของรายละเอียดในร่างกฎหมายระบุสาระสำคัญคือ
2.1 ให้ผู้ประกอบกิจการทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม เน้นไปที่วิธีการทวงถามหนี้ และข้อห้ามการทวงถามหนี้ หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ข้อห้าม ตามที่กำหนดจะมีโทษทางอาญา โดยปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
2.2 มีการกำหนดข้อห้ามที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ ห้ามติดต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้น ห้ามเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องห้ามกระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ เช่น ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การติดต่อโทรศัพท์วันละหลายครั้ง โดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ ห้ามกระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ ทำให้เข้าใจผิด เช่น ทำให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย ในเรื่องที่ว่าหากไม่ชำระหนี้ จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ข่มขู่ว่าจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยที่ไม่มีอำนาจจะทำเรื่องที่แจ้งไว้ได้ตามกฎหมาย เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่มีการตกลงไว้ล่วงหน้า ที่สำคัญคือการติดต่อลูกหนี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทวงถามหนี้โดยใช้ช่องทางการสื่อสาร เช่น ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสาร มีการใช้ภาษา การใช้สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจ โดยมีข้อความบนซองเอกสารนั้นระบุให้เห็นว่าเป็นการติดตามทวงถามหนี้ในเรื่องเวลาการติดตามทวงถามหนี้ได้นั้นให้ติดต่อในวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนในวันหยุดราชการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น.
3. ความเห็นของผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าร่าง กฎหมายที่เสนอนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ดำเนินการทวงหนี้ ทั้งธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคาร นอนแบงก์และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลทุกแห่ง ปฏิบัติตามภายใต้กฎหมายกำหนดไว้
4. ด้านนายธนาคารก็ยอมรับว่า หากกฎหมายมีความชัดเจน ก็อาจส่งผลให้การทวงหนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะมีข้อห้ามและข้อบังคับบวกบทลงโทษที่รุนแรงพอสมควร และคนที่เป็นลูกหนี้ควรจะทราบว่า หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามเงื่อนไข หรือสัญญาที่ทำไว้ อาจส่งผลให้ลูกหนี้เสียประวัติ และไม่สามารถที่จะกู้เงินจากธนาคารได้อีกต่อไป และสุดท้ายแล้วลูกหนี้ควรจะมีวินัยทางการเงิน ของตัวเอง เพื่อไม่ให้เสียประวัติการชำระหนี้ที่ธนาคารและสถาบันการเงินจะส่งมาทุกเดือนที่เครดิตบูโร
ตัวผู้เขียนเองเห็นว่า กฎหมายนี้เกิดขึ้นมาได้ก็จะมีผลกับบุคคลหลายฝ่าย แต่ถ้าคิดอีกมุมเราอาจไม่ต้องมีกฎหมายออกมาเลยถ้า คนที่ไปเป็นหนี้เขานั้นคิดได้ว่า สัญญาต้องเป็นสัญญา เมื่อลงชื่อไปแล้วก็ต้องผูกพัน เป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ เพราะถ้าเป็นเงินเราที่ถูกยืมไปเราก็คงจะไม่ยอมจริงไหม ผมจึงคิดว่า เครดิตดีนั้น ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ก็ต้องลงมือทำเอง เหมือนสุขภาพร่างกายครับที่อยากแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกายครับผมเขียน
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น