ค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จนมาแตะที่ระดับ 31.93-31.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่ พ.ย.2556 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเงินบาทไทย ภายหลังจากการเข้าบริหารประเทศครบ 2 เดือน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนักบริหารเงินยังเชื่อว่าเงินบาทยังมีทิศทางที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้อีกในระยะนี้
แต่การแข็งค่าของเงินบาท ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองว่า เป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ซึ่งนำโดยเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย (IDR) ที่แข็งค่ามากที่สุด และมีค่าเงินบาทไทยแข็งค่ารองลงมา
โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ได้แก่ 1.นักลงทุนในตลาดการเงินโลกมีความเชื่อมั่นในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซียมีความชัดเจน 2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจทั้งปี 57 จะขยายตัวได้สูงกว่า 2.5% และ 3.ปัจจัยบวกจากข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีความกว้างและลึกมากขึ้นในอนาคต
ซึ่งความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติปรับฐานะการลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดน้ำหนักความสำคัญของการลงทุนในไทยลงไป โดยเริ่มเห็นเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งแตกต่างจากเดือนพฤษภาคม 2557 ที่เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค ช่วงนี้จึงเหมือนเงินบาทปรับตัวไล่ตามภูมิภาคจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวนัก
และหากนับจากต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค 9 สกุล โดยแข่งค่าขึ้น 2.75% เป็นลำดับที่ 4 ตามหลังรูเปียห์ที่แข็งค่าขึ้น 5.93% ,ริงกิตมาเลเซียที่ 3.6% และรูปีอินเดียที่ 2.81% ดังนั้น การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในระยะยนี้ จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระเงินตราต่างประเทศ อาทิ ต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้า หรือต้องการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ
ลำดับการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ
1. รูเปียห์อินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้น 5.93%
2. ริงกิตมาเลเซีย แข็งค่าขึ้น 3.6%
3. รูปีอินเดีย แข็งค่าขึ้น 2.81%
4. เงินบาท แข่งค่าขึ้น 2.75%
(ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)
แต่ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของเงินบาท ย่อมเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ดังนั้นเมื่อมีผู้ได้ประโยชน์ก็ต้องมีผุู้เสียผลประโยชน์ จึงหนีไม่พ้นที่ ธปท.จำเป็นต้องดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว
ข่าวเด่น