เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"แก้หนี้ครัวเรือน" ปัญหาท้าทายรัฐบาลใหม่


 

หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัญหาที่ยังท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการต่างก็แสดงความเป็นห่วง ถึงผลกระทบที่จะบั่นทอนการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต


 
 
ผู้บริหารศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ยอมรับว่า เป็นห่วงสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของไทย และมีอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจับตามอง โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 82.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปี 2556 

โดยหนี้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เฉลี่ยมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท /เดือน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่เปราะบางสำหรับเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เนื่องจากเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ทำให้ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แม้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบแล้ว จากการจ่ายหนี้ค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา 90,000 ล้านบาท เพราะราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ หลายบริษัทลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) และครัวเรือนยังคงมีหนี้ในระดับสูง

 
 
 
ความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนี้ ยังสอดคล้องกับผลสำรวจของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจสภาพหนี้ครัวเรือนระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2557 พบว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนมีปัญหาหนักที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2549 หรือในรอบ 9 ปี โดยภาระหนี้ของครัวเรือนในปี 2557 คิดเป็นสัดส่วน 74.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 64.6% และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 219,158.20 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.1% แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 50.1% และหนี้นอกระบบ 49.1%

ผลสำรวจยังพบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อปีก่อน ขณะที่สถาบันการเงินก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ประชาชนกลุ่มคนมีรายได้น้อยจำเป็นต้องหาแหล่งเงินที่พร้อมปล่อยกู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับเงินเดือนไม่เกิน 1 หมื่นบาท ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าภาคครัวเรือนหันไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้นถึง 45.0% ส่งผลให้การกู้ยืมเงินนอกระบบขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.08% เติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี

 
 
 
ขณะที่บทบาทธนาคารของรัฐ ก็มีความชัดเจนในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดย นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารจะประชุมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อและค้ำประกันช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เห็นว่า ยังมีความสามารถในการช่วยเหลือได้ เช่น การอนุมัติให้ธนาคารสามารถปล่อยวงเงินกู้ก้อนใหม่ หรือการเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีจากเดิมอยู่ที่ 1:1 เท่า เพิ่มเป็น 1:2 หรือ 1:5 เท่า เพราะลูกค้าเหล่านี้มีความสามารถในการหารายได้สูงแต่เงินทุนมีน้อย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ค. 2557 เวลา : 15:12:44
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:53 am