ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "การส่งออกเดือนมิ.ย. 57 พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.9 "
ประเด็นสำคัญ
? มูลค่าการส่งออกในเดือนมิ.ย. 2557 กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ซึ่งดีกว่าที่คาด นำโดย การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรรายการสำคัญ อาทิ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าเดือนมิ.ย. 2557 กลับหดตัวลงมากกว่าที่คาด และเป็นภาพต่อเนื่องในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 14.0 (YoY)
? การส่งออกที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนมิ.ย. 2557 ช่วยบรรเทาภาพการหดตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี ลงมาที่ร้อยละ 0.4 (YoY) และนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีที่น่าจะทยอยได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลก และฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าจะยังคงต้องจับตาสถานการณ์ค่าเงินบาท และมาตรการของประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด
? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงตัวเลขคาดการณ์การส่งออกตลอดทั้งปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 3.0 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 2.0-4.0) ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2556 (ตามฐานดุลการชำระเงิน)
การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 2557...กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
.ย. 2557 ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ อยู่ที่ 19,842 ล้านดอลลาร์ฯ พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 3.9 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.1 (YoY) ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 3.5 (YoY) และการคาดหมายของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ที่ร้อยละ 3.1 (YoY) ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกที่พลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนมิ.ย. นั้น จะเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการทยอยฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 3.5 YoY) และสินค้าเกษตรรายการสำคัญ อาทิ ข้าว (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อีกร้อยละ 35.1 YoY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 42.3 YoY)
สรุปภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของปี 2557
การส่งออกเดือนมิ.ย. ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าที่คาดเล็กน้อย ช่วยหนุนให้ภาพรวมของการส่งออกในไตรมาสที่ 2/2557 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ที่ร้อยละ 0.3 (YoY) อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ซบเซาในช่วงไตรมาสที่ 1/2557 ทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ยังคงหดตัวลงร้อยละ 0.4 (YoY) และหดตัวร้อยละ 1.3 (YoY) ในกรณีที่ไม่นับรวมทองคำ ทั้งนี้ หากพิจารณาในมิติของตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก จะพบว่า ตลาดสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 2.8 YoY) และสหภาพยุโรป (ขยายตัวร้อยละ 7.5 YoY) สามารถประคองสัญญาณการฟื้นตัว และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ตลาดศักยภาพสูงอย่างจีน มูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงไม่ฟื้นกลับมาสู่ระดับปกติ (หดตัวลงร้อยละ 4.3 YoY) ซึ่งทำให้ยังคงต้องรอแรงหนุนจากทิศทางการฟื้นตัวของจีนในช่วงครึ่งปีหลังต่อไป
การนำเข้าเดือนมิ.ย. 2557 ... หดตัวลงมากกว่าที่คาด
การนำเข้าในเดือนมิ.ย. ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 14.0 (YoY) แย่ลงทั้งเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.75 (YoY) และอัตราการหดตัวร้อยละ 9.2 (YoY) ในเดือนพ.ค. 2557 อย่างไรก็ดี เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นในการนำเข้าสินค้าทุนบางประเภท อาทิ เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ (พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ร้อยละ 1.2 YoY) และเครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบ (ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันอีกร้อยละ 3.1) ซึ่งหากเป็นภาพที่ต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กระนั้น การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ยังหดตัวเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี ก็นับเป็นภาพที่สะท้อนว่า ยังคงต้องระมัดระวังในการประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีอย่างใกล้ชิด
แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง…น่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้น
แม้ภาพรวมการส่งออกยังคงอ่อนแอและฟื้นตัวได้ช้าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ และสัญญาณการฟื้นตัวในบางสินค้าที่หากเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยชดเชยและเป็นความหวังให้กับแนวโน้มการส่งออกในระยะข้างหน้าได้
? กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยในข้าว/ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีนสำหรับการบริโภคและการผลิตเอทานอล อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามแนวนโยบายการระบายข้าวในโครงการรับจำนำ หลังจากการตรวจสอบสต็อกข้าวของคสช.เสร็จสิ้น ส่วนการส่งออกไก่สด แช่เย็นแช่แข็งและผัก ผลไม้กระป๋อง ยังไปได้ดีในตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพาราและน้ำตาล ยังเผชิญกับระดับสต็อกสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งนั้น ยังมีปัญหาด้านอุปทานที่ยังไม่สามารถผลิตได้มากเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งแม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการอนุญาตให้ผู้ส่งออกกุ้งสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอย่างอินเดียหรือเวียดนาม หรือการเร่งเพาะลูกกุ้งเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มผลผลิต แต่ก็คาดว่า การส่งออกกุ้งยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เป็นปกติ
? การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของตลาดคู่ค้าหลัก (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) อาจหนุนให้สินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการส่งออกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ การส่งออกรถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ (ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้การตอบรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว และจะมีการขยายไปทำตลาดสหภาพยุโรปต่อไป ) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวม วงจรไฟฟ้า ส่วนทิศทางการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard disk drive: HDD) นั้น อาจไปได้ดีในส่วนที่สามารถรองรับระบบจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud Computing) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในขณะนี้
? กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แม้ว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี แต่ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะแต่ประเด็นการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรปในต้นปี 2558 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าในกลุ่มนี้ได้ ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำก็น่าจะสามารถส่งออกได้มากขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีน ในขณะที่อินเดีย แม้การส่งออกเครื่องประดับจะมีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มขยายตัว แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of origin) ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกเครื่องประดับไปยังตลาดผู้บริโภคในอินเดียได้
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกในเดือนมิ.ย.2557 จะพลิกกลับมาขยายตัวมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.9 (YoY) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อสถานการณ์การส่งออกไทยนับจากนี้ที่จะมีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรรวม (IC) เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากโมเมนตัมที่วกกลับมาอีกครั้งของเศรษฐกิจแกนสำคัญของโลก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลบวกของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อสถานการณ์ส่งออกสินค้าของไทยจะเป็นไปในกรอบที่จำกัด เนื่องจากยังต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้นจากตลาดจีนที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญ เพราะไม่เพียงจะมีผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมีนัยต่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังน่าจะได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ ทำให้สามารถพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 (YoY) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2557 สามารถบันทึกอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 2.0-4.0) ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2556 (ตามฐานดุลการชำระเงิน) อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาสถานการณ์ค่าเงินบาท และมาตรการของประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น