การตลาด
สกู๊ป: 2 สมาคมฯจี้รัฐ หนุนค้าปลีกไทยฮับอาเซียน


 

จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มนิ่ง  ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มออกมามาทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นให้มีรายได้สิ้นปีเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ก็ใกล้เคียง หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยลบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี

สำหรับภาพรวมการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรก 2557 ที่ผ่านมา มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6%  โดยในส่วนของกลุ่มคอนวีเนี่ยนสโตร์มีอัตราการเติบโต 7% ซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโต 3.5% ซูเปอร์เซ็นเตอร์เติบโต 3.5% ดีพาร์ทเมนสโตร์เติบโตน 1.5% และกลุ่มร้านค้าเฉพาะทางหรือสเปเชียลิตี้สโตร์เติบโต 4.5% ซึ่งจากแนวโน้มเศราฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ  6-7% 

ถึงแม้ว่าว่าภาพรวมของธุรกิจจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาคอาเซียน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงได้ยื่น 12  ข้อเสนอให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำไปพิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมค้าปลีกให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

 
 
 
 
น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตอนนี้สมาคมได้มีการนำเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกผ่านสภาหอการค้าไทยไปยัง คสช.เพื่อพิจารณา ซึ่งในส่วนของข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วยกัน 12 ข้อ  คือ 1.รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น 2. รัฐบาลควรให้การช่วยเหลือภาคเอกชนในภาพรวม เช่น  นโยบายไม่เก็บภาษีจากเงินกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ และการปรับโครงสร้างด้านภาษีจากการควบรวมกิจการ

3. รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจน เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 4. รัฐบาลควรเจรจาในระดับ G2G กับรัฐบาลในกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในประเทศดังกล่าวอย่างชัดเจน เนื่องจากหากภาคเอกชนแต่ละบริษัททำการเจรจาเองมักจะดำเนินการได้ลำบาก 5. ควรจัดให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง (One Stop Service) ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่จะออกใบอนุญาตทั้งหมด

6. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และอำนวยความสะดวกโดยการสร้างถนนให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 7.รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง low season โดยให้มีความร่วมมือทั้งจากภาคการท่องเที่ยว, โรงแรม, และค้าปลีก ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้

8. กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SME โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนที่ขาดสภาพคล่อง 9. เสนอให้จัดตั้งกระทรวงพัฒนาธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม SME และการค้า โดยให้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ ส ย.),และกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานที่กระจัดกระจายมารวมกัน เพื่ออุตสาหกรรม SME จะได้มีเจ้าภาพที่ชัดเจน และเพื่อพัฒนา SME ที่มีกว่า 99% อย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพ

10. ควรมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  ศิลปวัฒนธรรม  โรงแรมและภาคบริการในระดับโลกให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร 11. ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น และ 12. รัฐควรให้ความสำคัญสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเป็นสถาบันที่จะสร้างงานและพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ

ขณะที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยื่น 12  มาตรการให้กับ คสช. ด้านสมาคมศูนย์การค้าไทยก็ออกมาผลักดันให้ คสช. ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อยลงเหลือ 0-5%  เนื่องจากปัจจุบันมีการเสียภาษีดังกล่าวสูงถึง 30-40% ส่งผลให้ราคาขายสินค้าแบรนด์เนมในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ขาช้อปชาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับการเดินทางไปช้อปปิ้งในต่างประเทศ และประเทศเป้าหมายหลักในการเดินทางไปช้อปปิ้งยังคงเป็นประเทศในยุโรป ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยม คือ อิตาลี และฝรั่งเศส  จากสถิติของ Global Blue ล่าสุดไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่ใช้เงินช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมในยุโรปมาที่สุด รองจากประเทศจีน 

 
 
 
น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า การที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางค้าปลีกและการช้อปปิ้งของภูมิภาคอาเซียนได้นั้น ในส่วนของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถดำเนินงานได้ เพราะความสำเร็จจะเกิดได้ต้องเกิดการร่วมมือกันกับทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนของภาครัฐเองควรเข้ามาช่วยเหลือในการลดภาษีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อย เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางช้อปปิ้ง และแข่งขันกับประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ เนื่องจากทั้ง 2  ประเทศไม่มีการเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อยแล้ว 

นอกจากนี้ สมาคมศูนย์การค้ายังต้องการให้ คสช.สนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มคุณภาพ  ด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ที่สมบูรณ์แบบ มุ่งรองรับลูกค้าเป้าหมายกลุ่ม “New Asia Luxury” ทั้งจากจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมไปถึง รัสเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำแพงภาษีสูง กลุ่มคนในประเทศเหล่านี้ติดอันดับประเทศที่มีการจับจ่ายสูงสุด  เนื่องจากชอบช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมหากสามารถดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาจับจ่ายในไทยจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ทั้งในตลาดค้าปลีกและอุตสาหกรรมข้างเคียง
 

 
 
น.ส.วัลยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ประกอบการเอง ควรสร้าง "ความร่วมมือ" ระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรทางการค้า เพื่อเสริมสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ ก็จะสามารถรับมือได้ และมีโอกาสในการเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อเข้าสู่การเป็นเออีซี ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุนธุรกิจในด้านต่างๆ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการศูนย์การค้าขยายการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากเมื่อผู้ประกอบการศูนย์การค้าขยายตัวออกไป กลุ่มผู้ผลิตระดับ SME จะตามออกไป เพราะ SME จะก้าวออกไปต่างประเทศด้วยตัวเองลำบาก ต้องอาศัยผู้ประกอบการรายใหญ่นำออกไป เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน ธุรกิจค้าปลีกไทยจะสามารถแข่งขันในการเปิดเสรีธุรกิจบริการได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี  ในช่วง 3 ปีนี้ (2557-2559) กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าได้มีการใช้งบลงทุนกว่า 80,000  ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการใหม่ในรูปแบบศูนย์การค้าแบบเมกะโปรเจค หรือ ซูเปอร์ริจินัลมอลล์ ทั้งในย่านชอปปิ้งสตรีทใจกลางเมือง เพื่อเป็น “ชอปปิ้ง เดสทิเนชั่น” รองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่แยกปทุมวัน ที่มีศูนย์การค้าเอ็มบีเค สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน

 
 
 
ขณะที่ย่านราชประสงค์ มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แพลทินั่มแฟชั่นมอลล์ ย่านชิดลม-เพลินจิต มี เซ็นทรัล ชิดลม เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ต่อเนื่องถึงพร้อมพงษ์ ซึ่งการผนึกกำลังสร้างย่านการค้าดังกล่าวก็เพื่อยกระดับย่านชอปปิ้งสตรีทของไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้งของภูมิภาคเอเชียเทียบเท่า ฌอง เซลิเซ่ ของฝรั่งเศส, ฟิฟท์ อเวนิว ในนิวยอร์ก, ชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น และออร์ชาร์ด โรด ของสิงคโปร์

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ส.ค. 2557 เวลา : 01:25:10
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 7:23 am