การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมุมมองเกี่ยวกับสัดส่วนของกลุ่มต่างๆที่เข้าเป็นสมาชิกสนช.ที่แตกต่างกัน
สัดส่วนสนช.
1. ทหาร 105 คน
2. พลเรือน 85 คน
3. ตำรวจ 10 คน
โดยในแวดวงการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า สัดส่วนสนช.ที่มาจากกลุ่มทหารมากถึง 105 คน ไม่เหนือความคาดหมาย ซึ่งควรต้องติดตามผลงานการทำงานของสนช. มากกว่า เพราะต้องทำงานร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้ต้องการให้ สนช. เร่งผลักดันกฎหมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และอยากให้ สนช.
ดำเนินการอย่างเปิดเผย ให้ประชาชนได้รับทราบและรับฟังเสียงสะท้อนรอบด้าน
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ อดีต ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงภาพรวมของสนช. ชุดนี้ว่า รายชื่ออาจไม่สอดคล้องกับธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 7 ที่ระบุคุณสมบัติที่ต้องเป็นบุคคลที่หลากหลายจากกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และภาควิชาชีพ แต่ที่พบส่วนใหญ่เป็นทหารมากเกินไป ซึ่งเห็นว่า ควรจะมีเพียง 50 คนเท่านั้น ซึ่งผิดหวังกับคสช.เมื่อเห็นรายชื่อ สนช.ครั้งนี้ และรู้สึกกังวลว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเกิดขึ้นก็เกรงว่า จะมีทหารจำนวนมาก
ส่วน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับมองว่า รายชื่อสนช.ทั้ง 200 คน น่าจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากพิจารณาจากโครงสร้าง สนช. ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากนักวิชาการภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งมีความหลากหลายในการดำเนินงาน
ส่วนเรื่องเร่งด่วน คือ การปรับแก้กฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย ทำให้สามารถขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้เร็วขึ้น และที่สำคัญหากมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ โดยใช้โครงสร้างเดียวกัน จะเอื้อให้การทำงานในด้านต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 5 ปี ข้างหน้า
ทั้งนี้แม้การแต่งตั้ง สนช. อาจจะไม่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติระยะนี้ แต่ผลจากการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะเป็นตัวชี้วัดมากกว่า หากผลการทำงานเป็นไปตามโรดแม็ปที่ตั้งไว้ ก็จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตั้ง สนช. ว่า ไม่ต้องการให้มองว่าเป็นเรื่องของโควตา แต่เป็นการเสนอชื่อ และสาเหตุที่มีทหารจำนวนมาก เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงจำเป็นต้องทำให้มีเอกภาพในการดูแล แก้ปัญหา
โดยเฉพาะในเรื่องของการกลั่นกรองกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา กฎหมายบางฉบับไม่สามารถออกได้ บางฉบับล้าหลัง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิรูปต่อไป
หลังจากนี้คงต้องติดตามการทำงานของสนช.ว่า จะวางแนวทางในการปฎิรูปประเทศ ในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน
ข่าวเด่น