นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าการที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ไม่ใช่อัตราที่ต่ำจนเกินไป เป็นผลจากครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่หากมอง 12 เดือนข้างหน้าจีดีพีที่จะขยายตัวร้อยละ 4-5 เป็นระดับที่ค่อนข้างดี และกลับมาเติบโตในอัตราตามปกติ
ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยอมรับว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 82.3 เมื่อปลายปี 2556 เป็นร้อยละ 82.7 ของจีดีพีในไตรมาส 1 /2557 เนื่องมาจากการขยายตัวของจีดีพีน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ขณะที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เห็นได้จากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้เลวร้ายลง ดังนั้นธปท.จึงเห็นว่าไม่ต้องดำเนินมาตรการใดเป็นพิเศษ เพราะการที่ธนาคารพาณิชย์เดิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อก็ถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจ แต่ธปท.ก็ไม่ประมาณ ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะในต่างประเทศปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ระดับร้อยละ 85-100 ต่อจีดีพี ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ในส่วนของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแค่ไหนนั้น ยังไม่ได้มีการประเมิน เพราะยังเร็วเกินไป ยังต้องติดตามรายละเอีนดต่อไป
นายไพบูลย์ ย้ำด้วยว่าแม้ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ก็ไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเนื่องจากหลายประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ มาจากปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่นเงินเฟ้อสูง สินเชื่อขยายตัวแรง เป็นต้น แต่แม้จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่าเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ
ข่าวเด่น