ภายหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีการประชุมครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตรที่ 42-47 ในรอยต่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยระบุว่า การขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร จะช่วยยกระดับความปลอดภัยบนถนน และเป็นโอกาสในการสร้างแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่าที่ข้ามไปมาระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขตอุทยานแห่งชาติทับลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการก่อสร้างทางยกระดับและอุโมงค์ให้รถลอดผ่านเป็นช่วงๆ และพัฒนาพื้นที่บนอุโมงค์ให้เป็นป่า เพื่อสัตว์ป่าสามารถข้ามไปมาระหว่างป่าได้
โดยรูปแบบอุโมงค์และทางยกระดับ เพื่อใช้เป็นทางเดินสัตว์เชื่อมระหว่างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่มรดกโลก บนทางหลวง 304 ช่วงกม.ที่ 26-29 โดยจุดนี้จะสร้างอุโมงค์ 2 แห่ง และทางยกระดับ 1 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,397.5 ล้านบาท ส่วน กม.ที่ 42-57 จะสร้างทางยกระดับและทางลอด อย่างละ 1 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยทั้งสองจุดจะขยายถนน เป็น 4 ช่องจราจรด้วย ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า และยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในจุดอันตรายคอขวดทั้งสองจุดบนถนน 304
สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ หลังผ่านการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดูแลของ คสช.ได้ผ่านการเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอออก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2559
กรณีความเห็นชอบดังกล่าวได้เกิดกระแสคัดค้านจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคม ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะอาจกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และที่สำคัญ คณะกรรมสิ่งแวดล้อมเพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเพียงไม่กี่วัน จะสามารถมาทำความเข้าใจในรายละเอียดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีความหนาเป็นพันๆ หน้า โดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบเพียงไม่กี่นาที เป็นไปได้อย่างไร จึงเรียกร้องให้มีการทบทวน หรือเพิกถอนทั้ง 2 โครงการ และหากข้อเรียกร้องนี้ไม่บังเกิดผล สมาคมฯจะใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญในการฟ้องร้องหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงมีการเปิดแถลงข่าวชี้แจงความคืบหน้าข้อเท็จจริงโครงการเชื่อมต่อผืนป่ามรดกโลก บนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี - อ.ปักธงชัย โดยมี นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วยนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ,นายขัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง และนางเปรมพิมล พิมพันธุ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
โดย นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า การก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี - ปักธงชัย ในช่วง กม.26+000 – กม.29+000 นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10 - 17 มิถุนายน 2548 ณ เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกได้ร้องขอให้ประเทศไทยดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางเชื่อมต่อผืนป่าระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่กลุ่มป่า และพิจารณาทางเลือกในการออกแบบแนวเชื่อมต่อผืนป่าที่มีประสิทธิภาพต่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการขยายช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 304 มาให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา 2 โครงการ
1.โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี - อ.ปักธงชัย (กม. 26+000-29+500) สผ.ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ ได้พิจารณารวม 2 ครั้ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อาทิเช่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ด้านสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าร่วมพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ให้นำรายงานฯ เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.โครงการก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 304 อ.กบินทร์บุรี - อ.ปักธงชัย (ช่วง กม.42+000 – กม. 57+000) สผ.ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯได้พิจารณารวม 5 ครั้ง โดยมีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ให้นำรายงานฯ เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
กรมทางหลวงจึงได้ทำการศึกษาและสำรวจออกแบบรายละเอียดทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย ร่วมกับออกแบบขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อรักษาและดำรงไว้ซี่งวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และเพื่อให้การพัฒนาโครงการสอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลก โดยได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่าดำเนินการข้อมูลสัตว์ป่าอย่างละเอียด รอบคอบ ทั้งประเภท ชนิด และจำนวนของสัตว์ป่า สภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เส้นทางการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า ร่องรอยของสัตว์ที่พบในพื้นที่ ทิศทางการเดินของสัตว์ป่า สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจภาคสนาม และการสอบถามจากราษฎรในพื้นที่ รวมถึงดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสัตว์ป่ามาประกอบการออกแบบจุดที่เชื่อมผืนป่าแบบผสมผสานที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฎิบัติมากที่สุด
จากผลการศึกษารูปแบบและตำแหน่งการออกแบบทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกที่เหมาะสม ได้เสนอไว้จำนวน 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กม.27+075 – กม.27+645 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับระยะทาง 570 เมตร และช่วงที่ 2 กม.28+650 – กม. 28+900 และ กม. 28+950 – กม.29+130 ก่อสร้างอุโมงค์ชนิดดินตัดและถมกลับ ระยะทางรวม 430 เมตร รวมถึงโครงการยังได้ออกแบบทางลอดสำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์ขนาดเล็กในช่วงถนนระดับดินเพิ่มเติมไว้ด้วย
โดยในช่วงศึกษาโครงการมีผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เข้าร่วมกำกับการศึกษาและพิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อการออกแบบทางเชื่อมป่ามรดกโลกแล้วตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ประกอบกับในกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง
นายเกษมสันต์กล่าวว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ได้กลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะให้ความเห็นชอบโครงการ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้พิจารณารายงานทั้ง 2 โครงการ และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พร้อมทั้งให้โครงการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม อาทิเช่น ให้กรมทางหลวงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการควบคุมการล่าสัตว์ป่า และการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานเป็นการชั่วคราวในระยะก่อสร้างโครงการ เพื่อเฝ้าระวังการล่าสัตว์ป่าด้วย
“จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณารายงานฯโดยรอบคอบแล้ว มิได้มีการรวบรัดการพิจารณาแต่อย่างใด มีการใช้ระยะเวลาในการกลั่นกรองโครงการรวมตั้งแต่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ”นายเกษมสันต์ เลขาธิการ สผ.ระบุ
ด้าน นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติให้ปรับปรุงถนนสาย 304 เป็นถนน 4 เลน จากเดิม 2 เลน แต่เมื่อมีการประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน เป็นมรดกโลก ทำให้เกิดกระแสคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การขยายถนนทั้งช่วงก.ม.ที่ 26-29 และก.ม.ที่ 42-57 มีความจำเป็น เพราะการจราจรแออัดมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีรถวิ่งมากถึงวันละ 20,000 คัน และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากปัจจัยทางกายภาพที่เป็นทางโค้งลาดชัน ซึ่งการขยายถนนนี้จะสอดคล้องไปกับรูปแบบการเชื่อมต่อผืนป่า ที่มีทั้งอุโมงค์ระยะทาง 430 เมตร และทางยกระดับสูง 10 เมตร สำหรับเป็นทางเดินสัตว์ป่า คาดเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ต.ค.-พ.ย.2557
ส่วนมาตรการแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การชะล้างพังทลายของดิน คุณภาพน้ำ เสียง นิเวศวิทยาป่าไม้ ทั้งหมดดำเนินการตามคำแนะนำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ถมที่ดินบนอุโมงค์เพื่อปลูกป่า สร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ สร้างแผงกั้นเสียงรบกวน ล้มต้นไม้ใหญ่และปลูกป่าทดแทนอีกราว 300-400 ไร่
“ถนนสาย 304 มักจะเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายนี้ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,425 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 313 ราย และบาดเจ็บ 2,553 ราย และหากดูเฉพาะปี 2557 เกิดอุบัติเหตุ 143 ครั้ง เสียชีวิต 53 ราย และบาดเจ็บ 200 ราย ซึ่งสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางหลวงหมายเลข 304 เป็น 4 ช่องจราจรเกือบตลอดทั้งสาย ยกเว้นมี 2 ช่วง ใน กม.ที่ 26+000 -29+000 และ กม.ที่ 42+000 – 57+000 ที่ยังเป็นถนน 2 เลน ทำให้เป็นจุดคอขวดและเกิดอุบัติเหตุ ฉะนั้นการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ที่เป็นคอขวด ให้เป็นถนน 4 เลน เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทั้งรถชนกันเองและรถชนสัตว์ป่า และเพื่อให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่แหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก(Eastern Seaboard) รวมถึงสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและเวียดนามในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยออกแบบเป็นอุโมงค์ให้รถลอดใต้อุโมงค์ ส่วนบนอุโมงค์เป็นทางเชื่อมผืนป่าให้สัตว์ป่าสามารถข้ามไปข้ามมาระหว่างป่าได้ ”นายชัชวาลย์กล่าว
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปว่า สำหรับการออกแบบโครงสร้างทางยกระดับ(สำหรับสัตว์ประเภท หมี กวางป่า เก้ง ช้าง) มี 1 ช่วง คือ บริเวณ กม.27+075 – 27+645 ระยะทาง 570 เมตร มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 8-10 เมตร,โครงสร้างหนา 1.6 เมตร กว้าง 24 เมตร,ระยะระหว่างเสาประมาณ 30 เมตร และมีรอยต่อเผื่อขยาย ทุกๆ 120-150 เมตร
ส่วนการออกแบบอุโมงค์ทางหลวงตัดดินและถมกลับ (สำหรับสัตว์ประเภท กระทิง หมี เลียงผา กวางป่า เก้ง) จะมี 2 จุด คือ กม.28+650 – 28+900 และ กม. 28+950 – 29+130 รวมระยะทาง 430 เมตร มีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3.50 เมตร และทางเท้ากว้าง 1.80 เมตร
ด้านมาตรการลดผลกระทบก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า สำหรับมาตรการลดผลกระทบด้านเสียง ได้ติดตั้งกำแพงกั้นเสียงชนิดมีช่องสำหรับปลูกต้นไม้สองฟากแนวเส้นทางระดับดิน (กม.26+000 – กม.27+040, กม.27+680 – กม.28+680, กม.29+130 – กม.29+450) และปลูกพรรณไม้ท้องถิ่นตามแนวรั้วเหล็กกั้น บริเวณเขตทางช่วงที่ปรับปรุงและขยายถนนระดับดิน ช่วง กม.26+000 – 27+040, กม.27+680 - 28+080, กม.28+900 – 28+950 และ กม.29+130 – 29+450 เพื่อลดผลกระทบด้านเสียงและแสงต่อสัตว์ป่า พร้อมยังได้ติดตั้งกำแพงกั้นเสียงแบบ Laminated Safety Glass ( Reflective Type) ความสูง 2 เมตร บนขอบทางยกระดับ 3 จุด คือ ช่วง กม.27+075 – 27+190 (ทั้งฝั่งซ้ายและขวาทาง) และช่วง กม. 27+190 – 27+400 (เฉพาะฝั่งซ้ายทาง) และช่วง กม.27+400 –27+640 (ทั้งฝั่งซ้ายทางและขวาทาง)
ส่วน มาตรการลดผลกระทบด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ได้ดำเนินการย้ายต้นไม้ที่อยู่ในแนวเส้นทาง โดยใช้วิธีการขุดล้อมสำหรับพันธุ์ไม้หายาก โดยจะนำกลับมาปลูกใหม่บริเวณด้านบนอุโมงค์ชนิดตัดดินและถมกลับ,ควบคุมชนิดพรรณไม้ ขนาดของต้นไม้ เพื่อลดผลกระทบจากรากไม้ต่อโครงสร้างอุโมงค์,ปรับแต่งต้นไม้ใต้ทางยกระดับไม่ให้สูงเกินระดับโครงสร้างโครงการ และปลูกป่าทดแทน 350 ไร่
ด้าน มาตรการลดผลกระทบด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า ได้ติดตั้งรั้วคอนกรีตร่วมกับการปลูกพืช เพื่อลดผลกระทบด้านเสียงและแสงในบริเวณที่มีการก่อสร้างในถนนระดับดิน นอกจากนี้ ได้ติดตั้งกำแพงกันแสง ชนิด Metal Panel แบบ Absorb Type ความสูง 2 เมตร ช่วง กม.27+190 – 27+400 รวมความยาว 210 เมตร เฉพาะฝั่งขวาทาง ซึ่งเป็นช่วงที่โค้งของโครงสร้างยกระดับวกเข้าหาภูเขา เพื่อป้องกันผลกระทบจากแสงไฟของถนน และจากยวดยานพาหนะที่สัญจรตอนกลางคืนต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับทางยกระดับ เพื่อลดปัญหาแสงไฟฟ้าส่องสว่างรบกวนต่อสัตว์ป่า
ในส่วนการออกแบบเป็นทางระดับดินที่มีการกั้นรั้ว เพื่อจัดทำอุโมงค์สัตว์ลอดสำหรับสัตว์ขนาดเล็กและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยมีทั้งหมด 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วง กม.ที่ 26+000 – 27+040 และ 2.ช่วง กม.ที่ 27+680 ถึง 28+650 และ 3.ช่วง กม.ที่ 29+130 ถึง 29+450
สำหรับ การติดตั้งไฟส่องทางบนทางยกระดับบริเวณทางสัตว์ผ่าน จะใช้ไฟส่องทางที่มีการจำกัดการตกกระจายของแสง โดยมีการติดตั้งในระดับต่ำบริเวณราวคอนกรีตกันตก เพื่อป้องกันผลกระทบจากแสงไฟรบกวนกิจกรรมของสัตว์ป่าในบริเวณทางสัตว์ผ่าน
ขณะ มาตรการผลกระทบด้านเสียง/อากาศ/ความสั่นสะเทือน จะติดตั้งกำแพงกั้นเสียงบริเวณสะพานยกระดับ โดยเลือกใช้กำแพงกั้นเสียงประเภทนี้แบบ Light หนา 150 มิลลิเมตร มีประสิทธิภาพสามารถลดเสียงลงได้ถึง 39 เดซิเบล
ด้าน นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯได้มีการสำรวจพื้นที่ป่า ช่วงที่มีการก่อสร้างทางเชื่อม 2 จุด และมีการสำรวจการใช้พื้นที่สัตว์ป่า สภาพพื้นที่ และภัยคุกคาม
โดยสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ช่วง กม.27-29 เป็นป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ความสูงไม่เกิน 400 เมตร ส่วนอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นป่าดิบแล้ง ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ ทุ่งหญ้า เขาสันแปร ด้านข้างเขาสูงชัน บนสันแปรเป็นที่ราบทุ่งหญ้าคา ความสูง 200-400 เมตร
ส่วน กม.42 –48 อุทยานเขาใหญ่ เป็นป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ สูง 100-400 เมตร ที่ราบสลับร่องห้วยตื้นๆ ส่วนอุทยานฯทับลาน เป็นป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ สวนป่า พื้นที่เกษตรเป็นสันเขาเตี้ยๆ สลับร่องห้วย สูงไม่เกิน 400 เมตร
ด้าน ความหลากชนิดของสัตว์ป่า เท่าที่ทำการสำรวจ พบว่า
1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 23 ชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง กวางป่า หมีหมา หมีควาย เก้ง หมูป่า เลียงผา ลิงกัง หมาจิ้งจอก หมาใน
2.นก พบ นกประจำถิ่น 118 ชนิด นกอพยพ 20 ชนิด เช่น นกแก๊ก นกเหงือกกรามช้าง นกกระรางหัวหงอก
3.สัตว์เลี้อยคลาน พบ 23 ชนิด เช่น เต่าเหลือง จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูเขียวหางไหม้
4.สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 12 ชนิด เช่น อึ่ง กบ เขียด ปาด
ส่วน ชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบในบริเวณ กม.27 -29 และ กม.42 -48
1.กม.27 -29 อุทยานฯเขาใหญ่ 17 ชนิด ได้แก่ เก้ง หมี หมาใน หมาจิ้งจอก กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า แมวดาว กระเล็นขนปลายหูยาว กระรอกหลากสี หมูหริ่ง ลิงกัง หนู เม่น อีเห็น ขะมด อ้น กระแต
ส่วนอุทยานฯทับลาน พบ 18 ชนิด ได้แก่ เก้ง หมี หมาจิ้งจอก กระทิง กวางป่า หมูป่า เสือโคร่ง เสือขนาดกลาง กระรอกปลายหางดำ กระรอกหลากสี หมูหริ่ง หนู เม่น อีเห็น ชะมด อ้น กระแต พังพอนธรรมดา กระรอก
2. กม.42 -48 อุทยานฯเขาใหญ่ 18 ชนิด ได้แก่ เก้ง หมี กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า หมาจิ้งจอก หมาใน หมูหริ่ง หมาไม้ กระรอกหลากสี กระรอกดิน กระจงหนู กระแต อ้น อีเห็น ชะมด หนู
ส่วนอุทยานฯทับลาน 14 ชนิด ได้แก่ เก้ง กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า หมาจิ้งจอก กระรอกหลากสี หมูหริ่ง หมี ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า เม่น กระแต
สำหรับการวัดค่าความชุกชุมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
1.กม.27 -29 อุทยานฯเขาใหญ่ ได้แก่ กระทิง หมี กวางป่า หมูป่า หมาใน ส่วนอุทยานฯทับลาน กวางป่า หมูป่า เก้ง
2.กม.42-48 อุทยานฯเขาใหญ่ ได้แก่ หมูป่า เก้ง หมี ส่วนอุทยานฯทับลาน หมูป่า เก้ง หมี
สำหรับปัจจัยด้านการคุกคาม พบว่า
1.กม.27 -29 อุทยานฯเขาใหญ่ คือ การตัดไม้/ทำไม้ การล่าสัตว์ การบุกรุกพื้นที่ กิจกรรมของมนุษย์
ส่วนอุทยานฯทับลาน การบุกรุกพื้นที่ การล่าสัตว์ การตัดไม้/ทำไม้ กิจกรรมมนุษย์
2.กม.42 – 48 อุทยานฯเขาใหญ่ การตัดไม้/ทำไม้ การล่าสัตว์ กิจกรรมของมนุษย์ การบุกรุกพื้นที่ ปศุสัตว์
ส่วนอุทยานฯทับลาน ปศุสัตว์ การบุกรุกพื้นที่ การล่าสัตว์ และกิจกรรมมนุษย์
“หลังการเขื่อมต่อผืนป่ามรดกโลกเสร็จสิ้น มีการทำทางลอดสำหรับสัตว์ป่า ขั้นตอนต่อไปก็ต้องมีการสังเกตการณ์เฝ้าดูพฤติกรรมของสัตว์ป่า โดยจะมีการติดตั้งกล้องว่ามีสัตว์ป่าชนิดไหนบ้างที่ข้ามไปข้ามมาระหว่างผืนป่าทั้งสองแห่ง”อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติกล่าว
ด้าน นางเปรมพิมล พิมพันธุ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การดำเนินการสร้างถนน 304 สายอ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย ทั้งกรมป่าไม้และกรมทางหลวงจะต้องมีการทำงานที่ประสานงานสอดรับกัน โดยจะต้องมีการบริหารจัดการต้นไม้ริมทาง ด้วยการสำรวจต้นไม้ข้างทาง พันธุ์ไม้ที่มีค่า ก่อนที่จะมีการขุดล้อมและย้ายไปปลูกในที่อื่นที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะนำไปปลูกบนพื้นที่ด้านบนของอุโมงค์ที่มีการเชื่อมต่อผืนป่า รวมถึงต้องมีการปลูกไม้ทดแทนประมาณ 350 ไร่ เพื่อคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ธรรมชาติในระยะยาว
นายเกษมสันต์กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินการขั้นต่อไป หลังจัดทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าเพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น –เขาใหญ่ สำเร็จ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องออกมาตรการป้องกันการบุกรุกผืนป่า และกรมทางหลวงจะต้องออกมาตรการจำกัดความเร็ว โดยบังคับความเร็วที่ 90 กม./ชั่วโมงในทางราบ ส่วนบริเวณทางขึ้นและลงเขาต้องจำกัดความเร็วให้ต่ำกว่านั้นเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ กรมทางหลวงต้องออกแผนปฎิบัติการบรรเทาผลกระทบตามเส้นทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งแผนและมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องจัดทำเป็นรายละเอียดในแผนปฎิบัติการที่จะบังคับใช้ในระยะยาว หลังมีการขยายถนน 304 เป็น 4 ช่องจราจรและเชื่อมต่อผืนป่ามรดกโลกแล้ว เพื่อป้องกันการบุกรุกผืนป่า เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมปีหน้าต่อไป
“การดำเนินการโครงการเชื่อมต่อผืนป่ามรดกโลก บนทางหลวงถนน 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย หากทำสำเร็จถือว่าเป็นต้นแบบการเชื่อมผืนป่าครั้งแรกของประเทศไทย และแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์ธรรมชาติสามารถไปด้วยกันได้ โดยได้ทั้งการเชื่อมต่อผืนป่า และได้ช่องจราจรเพิ่มขึ้น ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และนำไปซึ่งการพัฒนาประเทศสร้างรายได้ให้ประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจต้องการดูข้อมูลเรื่องโครงการเชื่อมผืนป่ามรดกโลกตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าไปโหลดดูข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ที่ www.0nep.go.th”นายเกษมสันต์กล่าวตบท้าย
ด้าน นางกัณวีร์ กนิษฐ์พงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการก่อสร้างถนนสาย 304 ในจุดที่เป็นคอขวด ให้เป็นถนน 4 เลน เพราะถนนเส้นนี้เป็นจุดเสี่ยงอันตรายที่ติด 1 ใน 5 ของไทย ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากลักษณะทางกายภาพของถนนที่เป็นทางลงเขา ลาดชันกว่า 5 กิโลเมตร ไม่มีจุดพักรถ จึงส่งผลกระทบกับรถบรรทุกและรถบัสที่ใช้ระบบเบรคลม ทั้งนี้การสร้างอุโมงค์ในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา ก็ได้นำวิธีนี้มาใช้และได้ผลลัพธ์ที่ดี
ข่าวเด่น