เมื่อผมได้เห็นข่าวนางสาวธัญมาศ น่วมทอง บัณฑิตจากสาขาวิชาสาธารณ สุขชุมชน ของมหาวิทยาลัยราช ภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้ช่วยปฐมพยาบาลบัณฑิตต่างสถาบันที่ประสบอุบัติเหตุรถชนในวันรับพระราช ทานปริญญาบัตร บริเวณสวนอัมพร ภายหลังจากที่มีการสื่อสารออกไปยังสังคมสื่อออนไลน์ ตลอดรวมไปถึงการนำเสนอข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ ผู้บริหาร คณาจารย์ และเหล่าบรรดาเพื่อนร่วมสถาบันและสังคมต่าง
ยกย่องบัณฑิตสาวผู้นี้เป็นอย่างมาก
ผมเห็นข่าวนี้แล้วทำให้นึกถึง การชำระหนี้ของเหล่าบัณฑิตที่มีต่อ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ว่าในเวลานี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วกลับมีลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวนี้ นำเงินมาชำระกับกองทุน เพื่อให้กองทุนนำเงินไปหมุนเวียนต่อมีเพียงประมาณ 50% ส่วนที่เหลือเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีการชำระไม่ติดต่อไม่ยอมรับผิดชอบตามหน้าที่ที่ตนเองพึงต้องกระทำ
1. ทำไมประเทศเรา ระบบการศึกษาเราจึงเกิดปัญหาเชิงศีลธรรมแบบนี้ได้ สถาบันการศึกษาของบัณฑิตเหล่านั้นทำไมจึงไม่ใส่ใจ ทำไมจึงมีกระบวนการบ่มเพาะ สอนสั่งกันยังไง ให้ผลผลิตที่เรียกว่า บัณฑิตของสถาบันการศึกษาออกมามีนิสัยใจคอแบบนี้ หรือเรามุ่งแต่ปริมาณจนขาดสิ่งที่เรียกว่า มาตรฐานขั้นต่ำของการเป็นคนที่พึงรู้ว่าอะไรคือความรับผิดชอบ
2. ทำไมบัณฑิตนั้นเมื่อได้สัญญาไว้ว่าอย่างไร พึงต้องทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ เมื่อเป็นหนี้ผู้มีอุปการะคุณแบบกองทุนแล้วก็พึงจะต้องชำระหนี้ เพื่อมิให้น้องๆ ได้รับบาปเคราะห์ความยากลำบากในการมีแหล่งเงินเพื่อการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ทำไมจึงไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง
3. ในช่วงนี้ที่ถือว่าเป็นฤดูกาลแห่งการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เริ่มขึ้นกันแล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของเหล่าบรรดาบัณฑิต ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูง ภาพของบรรยากาศความสุขต่างๆ ถูกกระจายลงไปในโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ผมมีคำถามทั้งต่อตัว บัณฑิตและคณาจารย์ของสถาบันที่บ่มเพาะบัณฑิตที่ได้รับเงินกู้ยืมจาก กยศ. และเมื่อครบตามเงื่อนไขการชำระเงินคืนแล้ว ท่านเหล่านั้นกลับไม่มาชำระหนี้ตามสัญญา ท่านหนีหน้า และหนีหนี้ คำถามมีอยู่ว่า "ในยามที่ท่านปฏิญาณตนต่อปริญญาบัตร ด้วยเกียรติของท่านที่สังคมไว้วางใจให้มีฐานะว่า บัณฑิตนั้น ท่านรู้สึกอย่างไรกับคำว่า สัญญาไม่เป็นสัญญา เป็นหนี้ไม่ใช้หนี้ สิ่งที่เราทำผิดต่อน้องๆ รุ่นหลังจะส่งผลให้เขาเหล่านั้นเดือดร้อน และขาดโอกาสที่จะได้ศึกษาเล่าเรียน เราคือผู้ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตจริงหรือไม่" และผมต้องขอชื่นชมกับ บัณทิตที่ทำตามขั้นตอนและชำระหนี้ตามกฎเกณฑ์ ของกองทุนเป็นอย่างมากเพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่จะสานต่ออนาคตให้กับรุ่นน้องต่อไป
4. ท้ายที่สุดมีคำกล่าวที่ว่า "เราจะหนีอะไรก็หนีได้ แต่เราหนีความจริงในใจเราไม่ได้ ให้มโนธรรมฝ่ายดีในใจเราทำงานเถอะครับ มันยากกว่าการคิดผิด มัวเมาในอบายมุข หลงไปในกิเลส แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าบัณฑิตนั้นย่อมทำสิ่งที่ดี ที่ยากนั้นได้อย่างแน่นอน"... ผมยังมีความหวังอยู่ใช่ไหม
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น