การค้า-อุตสาหกรรม
ไทยจะตั้งรับการรุกคืบของเนื้อหมูนำเข้าอย่างไร



ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ครั้งที่ 5 ที่ศูนย์เครือข่ายการวิจัยเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ด้วยความร่วมมือของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การผลิตเนื้อสัตว์ภายใต้การแข่งขันทางการค้าโลก” มีการสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดาท่านผู้รู้ในวงการปศุสัตว์หลายท่าน วันนี้ขอหยิบยกประเด็น“ไทยจะตั้งรับการรุกคืบของเนื้อหมูนำเข้าอย่างไร” มาบอกต่อ

 

 

โดย น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้สหรัฐอเมริกายังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขอนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องในหมู ที่เป็นเศษเหลือที่คนอเมริกันไม่บริโภค และหวังส่งออกเพื่อเพิ่มกำไร ด้วยการยกข้ออ้างมากมายมาประกอบ ทั้งเรื่องมาตรฐานการเลี้ยงและฟาร์มของสหรัฐฯ มีความเป็นสากลกว่า การเลี้ยงหมูของประเทศไทยซึ่งยังไม่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี 

 
 
 
หากแต่ในความเป็นจริงมาตรฐานการผลิตเนื้อหมูของไทยมีความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจากไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมอาหารสัตว์ทุกชนิด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยไทยประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ปี 2542 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรปและอีกหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหาร ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตหมูของไทยก็มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตเนื้อหมูที่มีคุณภาพสูงได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภค

ถึงแม้สหรัฐฯ จะบอกว่าได้พยายามปรับค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดง แร็กโตปามีน (Ractopamine) ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex ที่อนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้แล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้ยังขัดต่อพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 และพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 ของไทย ซึ่งห้ามไม่ให้มีการใช้สารเหล่านี้อยู่แล้ว และกรมปศุสัตว์ยืนยันห้ามใช้สารในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ผสมอาหารสัตว์ทุกตัวไปผสมอาหารสัตว์ เนื่องจากสารดังกล่าวมีโทษต่อสัตว์และมนุษย์ โดยมีฤทธิ์กระตุ้นสมองและระบบไหลเวียนโลหิต 

 
 
 
“ที่สำคัญสหรัฐฯยังเป็นแหล่งผลิตสารเร่งเนื้อแดงที่สำคัญ ทั้งยังเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างถูกกฎหมาย เรียกได้ว่าเนื้อหมูของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดงทั้ง 100% ก็คงไม่ผิดนัก” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว 

ส่วนจะดำเนินการกับเครื่องในนำเข้าเหล่านี้อย่างไรนั้น น.สพ.ปราโมทย์ ชี้ว่า ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามนำเข้าชิ้นส่วนหมูโดยเฉพาะเครื่องใน เพื่อสกัดกั้นต้นเหตุของปัญหา และป้องกันผลกระทบที่อาจมีต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย ทั้งยังช่วยปกป้องเกษตรกรไทยจากการเข้ามาตีตลาดของหมูสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณหมูล้นตลาดเพราะเกินความต้องการบริโภค ราคาหมูจะตกต่ำลง เกษตรกรต้องขาดทุนและอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยา-เวชภัณฑ์ เมื่อรวมทั้งอุตสาหกรรมหมูแล้วมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านบาท หากทั้งหมดต้องล่มสลายเพราะหมูสหรัฐเข้ามาตีตลาดแล้ว ย่อมกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของชาติอย่างแน่นอน
 
 
 
อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย จัดทำมาตรการร่วมกัน ในการเร่งปรับปรุงการเลี้ยงและจัดทำมาตรฐานฟาร์มให้ได้เกิน 85% ของจำนวนหมูทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าให้สามารถผลักดัน 7,000 ฟาร์ม จาก 8,000 ฟาร์มในปัจจุบัน เข้าสู่มาตรฐานให้ได้ภายในปี 2558  พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรหยุด-ละ-เลิกการใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยบังคับใช้กฎหมาย พรบ.อาหารสัตว์ พศ.2525 อย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการทำเขตโซนนิ่งฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เริ่มแล้วในเขต 2 ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เลี้ยงหมูเพื่อการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็ต้องหากระบวนการจำกัดการนำเข้า ตับและเครื่องในต่างๆ โดยมีการตรวจเช็คที่เข้มงวด รวมทั้งตรวจสอบและกักโรคจากการนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ PED PRRS และ SI พร้อมตรวจสอบสารตกค้างที่สหรัฐฯอนุญาตให้ใช้ เช่น Carbadox ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และChloramphenical Furazolidone เป็นต้น 

 
 
 
นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การผลิตและจำหน่ายเนื้อหมูสะอาด ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่กระบวนการผลิตสัตว์จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร ประกอบด้วย กระบวนการผลิตสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กระบวนการฆ่าและการแปรรูปเนื้อสัตว์ภายในโรงฆ่าสัตว์ การขนส่งสัตว์มีชีวิตและเนื้อสัตว์ และกระบวนการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่จุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ รวมทั้งระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ถึงแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์นั้นๆ ณ จุดจำหน่าย ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยปรับปรุงและพัฒนาระบบการผลิตหมูให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้เนื้อหมูที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

 
 
 
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำถึงวิธีการเลือกซื้อเนื้อหมูที่ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดงว่า ผู้บริโภคควรสังเกตเนื้อหมูก่อนตัดสินใจซื้อ โดยดูสีสันไม่ควรเป็นสีแดงสด ชื้นเนื่อควรมีสีชมพูอ่อน เนื้อต้องมีน้ำเจือปน หรือที่เรียกว่าฉ่ำน้ำ เพราะสารเร่งเนื้อแดงจะทำให้เนื้อมีลักษณะแห้ง ควรมีไขมันแทรกในชั้นกล้ามเนื้อ  เวลากดเนื้อแล้วจะนิ่ม ต่างจากเนื้อที่ใช้สารเร่งที่เนื้อจะแข็ง และเวลาปรุงสุกเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งฯ จะมีลักษณะกระด้าง เคี้ยวแล้วจะรู้สึกแข็ง ที่สำคัญสำหรับคนที่แพ้สารเร่งเนื้อแดง จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงแนะนำให้เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งน่าเชื่อถือได้ 

ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเนื้อหมูของบ้านเรา มีคุณภาพสูงกว่าและมีปริมาณการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปิดรับชิ้นส่วนหมูที่คนอเมริกันไม่กิน และหวังว่าความพยายามเดินหน้ายุทธศาสตร์ที่ทั้งกรมปศุสัตว์และสมาคมฯกำลังทำอยู่จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
 

LastUpdate 12/08/2557 14:10:30 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 1:48 am