เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ส่งออกข้าวไทยปี57 กระเตื้องขึ้น ลุ้นทวงคืนแชมป์โลก


 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์การส่งออกข้าวไทยปี 2557 กระเตื้องขึ้น โดยเป็นผลจากปัจจัยหนุนระยะสั้น ลุ้นทวงคืนแชมป์โลก 

 

ประเด็นสำคัญ

•จากปัจจัยกดดันรอบด้าน ทำให้ไทยตกอันดับแชมป์ผู้ส่งออกข้าวโลกถึงสองปีซ้อนในปี 2555-2556 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 การส่งออกข้าวไทยได้พลิกมามีสัญญาณเชิงบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในปี 2557 น่าจะกระเตื้องขึ้น จากผลของปัจจัยหนุนระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการผลักดันการส่งออกของไทยจากสต๊อกที่มีอยู่ และอานิสงส์จากคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่ประสบภาวะส่งออกชะลอลง จนสุดท้ายคาดว่า ไทยอาจสามารถเบียดแซงคู่แข่งหลักขึ้นมาได้ในปีนี้ โดยปริมาณการส่งออกข้าวของไทยอาจอยู่ที่กว่า 9.0 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 36.1 (YoY) และมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยอาจอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.1 (YoY) 
 
•อย่างไรก็ตาม จากผลของปัจจัยหนุนที่ทำให้ไทยอาจสามารถครองแชมป์ข้าวโลกได้แต่ก็เป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น แต่หากปัจจัยหนุนดังกล่าวสิ้นสุดลงและเข้าสู่กลไกตลาดอย่างแท้จริง ไทยอาจต้องหันกลับมาสร้างความแข็งแรงให้กับข้าวไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ในระยะยาว ไทยจึงควรเร่งยกระดับศักยภาพการผลิตในระดับต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การครองความเป็นผู้นำส่งออกข้าวโลกของไทย สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน   
 
ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยเผชิญความท้าทายด้านราคาส่งออกที่สูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ อันส่งผลกดดันต่อภาพรวมการส่งออกข้าวของไทย ทำให้ไทยตกอันดับแชมป์ผู้ส่งออกข้าวโลกต่อเนื่องถึงสองปีซ้อนในปี 2555-2556 รองจากอินเดียและเวียดนาม อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพข้าวและปริมาณสต๊อกข้าวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ได้พลิกมามีสัญญาณเชิงบวก ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ซึ่งนับว่าในครึ่งปีแรกนี้ ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวแซงหน้าคู่แข่งมาเป็นอันดับ 1 ของโลก และด้วยปัจจัยหนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในระยะสั้นต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลังคือ ปริมาณสต๊อกข้าวของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับคู่แข่งหลักอย่างอินเดียและเวียดนามประสบภาวะการส่งออกชะลอลง ก็อาจทำให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้กระเตื้องขึ้น จนสามารถเบียดแซงคู่แข่งหลักขึ้นมาได้
 
altส่งออกข้าวไทยครึ่งแรกของปี’57…พลิกขยายตัวเป็นบวกทั้งด้านปริมาณและมูลค่า 
จากสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยที่หดตัวลงทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าต่อเนื่องถึงสองปีซ้อนในปี 2555-2556 อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยได้พลิกมามีสัญญาณเชิงบวก จากปัจจัยด้านราคาส่งออกข้าวไทยที่ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีอัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า เห็นได้จาก ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน  หรือขยายตัวร้อยละ 62.1 (YoY) และมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 76,351 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 23.2 (YoY) โดยตลาดส่งออกหลักคือ เบนิน สหรัฐอเมริกา จีน แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เป็นต้น
 
ข้าวไทยปี’57 ส่งสัญญาณกระเตื้องขึ้น...จากปัจจัยหนุนครึ่งปีหลัง 
ด้วยปัจจัยหนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในระยะสั้นที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะปริมาณสต๊อกข้าวไทยในระดับสูง และภาวะที่คู่แข่งประสบภาวะการส่งออกชะลอลง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องต่อจากครึ่งปีแรกที่ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 0.78 ล้านตัน และหากยังสามารถรักษาระดับการส่งออกนี้ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนในช่วงครึ่งปีหลัง ก็น่าจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นอีกราว 4.7 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2557 คาดว่า ไทยอาจมีโอกาสส่งออกข้าวมากกว่า 9 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 36.1 (YoY) และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.1 (YoY) และท้ายที่สุด คาดว่า อาจทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ด้วยปริมาณส่งออกกว่า 9 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ 10 ล้านตัน และเวียดนามเป็นอันดับ 3 ที่ 6.5 ล้านตัน
 
altอย่างไรก็ตาม หากในปี 2557 นี้ อินเดียประสบภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้ไทยมีโอกาสทวงคืนแชมป์จากอินเดีย และอาจก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้ ตามมาด้วยอินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ไทยส่งออกข้าวแซงคู่แข่งมาเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ปริมาณ 4.7 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 62.1 (YoY) ตามมาด้วยอินเดียที่ 4.5 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 14.0 (YoY) และเวียดนามที่ 3.0 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 14.2 (YoY)
 
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนี้
ปัจจัยในประเทศ
•ราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด จากการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว อันส่งผลต่อระดับราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
•เปิดประมูลข้าวตามแผนในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ นับเป็นจังหวะการระบายข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ข้าวนาปียังไม่ออก ทั้งนี้ คาดว่า ภาคเอกชนจะให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลข้าวกว่า 0.2-0.5 ล้านตัน 
•การระบายสต๊อกข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการปรับวิธีการระบายข้าวเป็นแบบภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น (G+P) เพื่อรองรับผลผลิตข้าวนาปี 2557/58 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคมนี้ โดยเจาะใน 4 ตลาดหลัก คือ 
          - ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เน้นเอกชนเป็นตัวนำในการเจรจาหรือร่วมประมูลขายข้าว และภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนเข้าไปทำตลาด
         - จีนและมาเลเซีย เน้นภาครัฐเป็นตัวนำในการเจรจาขายข้าวในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเอกชนเป็นผู้สนับสนุนแก่ภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่า ไทยจะเจรจาขายข้าวให้จีนราว 1 ล้านตัน และมาเลเซียราว 0.7 ล้านตัน
 
ปัจจัยภายนอกประเทศ
อุปสงค์ 
oแนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวมีมากขึ้นจากคู่ค้าสำคัญในตลาดเอเชีย ที่คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในเร็วๆ นี้ อย่างฟิลิปปินส์ (0.5 ล้านตัน) มาเลเซีย (0.2 ล้านตัน) และอินโดนีเซีย (0.2-0.5 ล้านตัน)
oจีนมีความต้องการข้าวเพื่อเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าวในประเทศลดลง อีกทั้งความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนินโญ่ จึงเร่งนำเข้าข้าวเก็บสต๊อกมากขึ้น
oอิรักเตรียมเปิดประมูลในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะสต๊อกข้าวภายในประเทศลดลง (หลังจากเปิดประมูลไปแล้วสองครั้งตั้งแต่ต้นปี 2557) คาดอาจเปิดประมูลราว 0.06-0.12 ล้านตัน
oไนจีเรียอาจเพิ่มคำสั่งซื้อข้าวนึ่ง หลังจากไนจีเรียได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากเดิมที่ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
 
อุปทาน
oคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย คาดอาจประสบภาวะภัยแล้ง จากปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง ตลอดจนการลดลงของปริมาณสต๊อกข้าวในประเทศ โดยสต๊อกข้าว ณ มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 28.0 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 15.9 (YoY) ซึ่งอาจกดดันการส่งออกข้าวของอินเดีย
oเวียดนามประสบปัญหาอุปทานข้าวในประเทศตึงตัว ส่งผลต่อราคาที่ปรับสูงขึ้น และนับว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังมีประเด็นกรณีพิพาทกับจีน (เรื่องหมู่เกาะพาราเซล ในทะเลจีนตะวันออก) อาจส่งผลให้จีนหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงในการสูญเสียตลาดหลักในปีนี้ นับเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของไทย (จีนเป็นตลาดส่งออกข้าวหลักของเวียดนาม โดยในปี 2555 เวียดนามส่งออกข้าวไปจีนคิดเป็นสัดส่วนมูลค่ากว่าร้อยละ 24.5 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม) 
oปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่คาดว่าอาจเกิดราวกลางปี 2557 ครอบคลุมหลายพื้นที่ในโลก อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว และการค้าข้าวโลก
        
          ทั้งนี้ การผลักดันการส่งออกข้าวของไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย คงต้องมาจากการบริหารจัดการสต๊อกข้าวที่อยู่ในระดับสูงอย่างมีระบบ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง
 
มองไปข้างหน้า หากไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกด้วยการระบายสต๊อกข้าวอย่างต่อเนื่องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ไทยมีลุ้นกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้ในระยะอันใกล้ ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปี 2558 ไทยจะกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้อีกครั้งด้วยปริมาณการส่งออกกว่า 10 ล้านตัน ตามมาด้วยอินเดียที่ 9 ล้านตัน และเวียดนามเป็นอันดับ 3 ที่ 6.7 ล้านตัน 
 
ปัจจัยท้าทายด้านราคา...ยังคงต้องจับตา
         แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จะมีสัญญาณเชิงบวกในระยะสั้นสนับสนุนให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2557 กระเตื้องขึ้น แต่ประเด็นท้าทายด้านราคายังคงต้องจับตา เพราะแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก แต่ราคาส่งออกยังคงต้องอิงกับตลาดโลก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาราคาส่งออกข้าวของไทยจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ส่วนต่างราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่หากพิจารณาทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาจะเห็นว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากปริมาณ     สต๊อกข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้ปัจจุบันส่วนต่างราคาข้าวไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งแคบลงเหลือราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในเวทีโลกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็กดดันต่อมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยด้วย
 
 
altสำหรับแนวโน้มราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่า ราคาส่งออกเฉลี่ยอาจทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด เพราะแม้จะสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวและการระบายสต๊อกข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันราคาอยู่ก็ตาม แต่ผลจากความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีรองรับ และไทยอาจได้รับอานิสงส์จากประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่อาจประสบภาวะการส่งออกที่ชะลอลง จึงมีโอกาสหนุนระดับราคาให้เพิ่มขึ้นได้บ้างในบางจังหวะ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามค่าเงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อระดับราคาอีกด้วย 
 
ระยะยาว...ข้าวและชาวนาไทย ควรเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
              จากนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกดดันต่อภาพรวมการส่งออกข้าวของไทยแล้ว ยังส่งผลต่อภาคการผลิตข้าวของไทยด้วย ทั้งในแง่คุณภาพ เนื่องจากชาวนาเร่งผลิตข้าว โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ เพื่อนำข้าวเข้าโครงการของรัฐบาล ตลอดจนในแง่ปริมาณ ซึ่งนับเป็นปริมาณ สต๊อกข้าวในระดับสูง นอกจากนี้ หากมองในมุมของชาวนา จะพบว่า ความเป็นอยู่ของชาวนาก็ยังไม่ดีขึ้นนัก มีรายได้จากการปลูกข้าวไม่เพียงพอต่อการยังชีพ มีหนี้สินจำนวนมาก ประกอบกับกระบวนการผลิตข้าวไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนการผลิตสูง ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ การวิจัยและพัฒนายังไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ส่งผลต่อคุณภาพข้าว จึงขายได้ในราคาต่ำ 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ และอาจต่อเนื่องถึงปีใกล้เคียงถัดจากนี้ จะให้ภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากปริมาณสต๊อกข้าวของไทยในระดับสูงที่ทยอยระบายออกสู่ตลาดในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็เป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น แต่หากมองในระยะยาว เมื่อปัจจัยหนุนดังกล่าวสิ้นสุดลงและเข้าสู่กลไกตลาดอย่างแท้จริง ไทยอาจต้องหันกลับมาสร้างความแข็งแรงให้กับข้าวไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับศักยภาพการผลิตในระดับต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การครองความเป็นผู้นำส่งออกข้าวโลกของไทย สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
 
แนวทางส่งเสริมภาคการผลิตข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนา...สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ลดต้นทุนการผลิต ดังนี้
?การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อสร้างพันธุ์ข้าวที่ดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมถึงการปลูกข้าวพันธุ์พิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มและขายได้ในราคาสูง 
?เพิ่มสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือเสริมกับการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น เพื่อเน้นการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะแนวโน้มความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น และราคาดี 
?ยกระดับสู่การผลิตข้าวคุณภาพ และใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิต 
?ส่งเสริมการใช้พื้นที่ปลูกข้าวในเขตที่เหมาะสม (Zoning) 
 
 แนวทางอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนี้
?การเกษตรแบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ได้ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ปลูกพืชและทำการเกษตรอื่นเสริมด้วย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มหลายทาง
?ส่งเสริมการค้าข้าวที่เป็นไปตามกลไกตลาด 
?ภาครัฐอาจมีมาตรการจูงใจ เช่น สนับสนุนสินเชื่อ (ทั้งนี้ ณ เดือนกรกฎาคม 2557 คสช.ได้มีมติช่วยเหลือชาวนา 3 โครงการคือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิต สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมข้าว เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน และโลจิสติกส์ 
 
             
  ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ชาวนาไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังคงบทบาทเป็นกระดูกสันหลังของชาติต่อไป หากแม้ในระยะยาวที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่ปัจจัยหนุนระยะสั้นได้สิ้นสุดลงและเข้าสู่กลไกตลาดอย่างแท้จริง ความหมายของการได้มาซึ่งความเป็นผู้นำการส่งออกข้าวโลก ควรจะสะท้อนภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน 
 
โดยสรุป
             ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยถูกกดดันจากปัจจัยรอบด้าน อันส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกข้าวของไทย จนทำให้ไทยตกอันดับแชมป์ผู้ส่งออกข้าวโลกต่อเนื่องถึงสองปีซ้อนในปี 2555-2556 รองจากอินเดียและเวียดนาม และยังส่งผลต่อปริมาณสต๊อกข้าวไทยที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ได้พลิกมามีสัญญาณเชิงบวก ซึ่งนับว่าในช่วงครึ่งปีแรก ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวแซงหน้าคู่แข่งมาเป็นเป็นอันดับ 1 ของโลก 
 
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่า การส่งออกข้าวไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ด้วยปัจจัยหนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในระยะสั้นต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลังคือ ปัจจัยในประเทศ ที่รัฐบาลผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมจากปริมาณสต๊อกข้าวไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัจจัยนอกประเทศ ที่คู่แข่งหลักอย่างอินเดียและเวียดนามประสบภาวะการส่งออกชะลอลง ก็อาจทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2557 กระเตื้องขึ้น จนสามารถเบียดแซงคู่แข่งหลักขึ้นมาได้ และหากอินเดียประสบภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้ไทยมีโอกาสทวงคืนแชมป์จากอินเดีย และก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้ในปีนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม จากผลของปัจจัยหนุนที่ทำให้ไทยอาจสามารถครองแชมป์ข้าวโลกได้แต่ก็เป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น แต่หากปัจจัยหนุนดังกล่าวสิ้นสุดลงและเข้าสู่กลไกตลาดอย่างแท้จริง ไทยอาจต้องหันกลับมาสร้างความแข็งแรงให้กับข้าวไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ในระยะยาว ไทยจึงควรเร่งยกระดับศักยภาพการผลิตในระดับต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การครองความเป็นผู้นำส่งออกข้าวโลกของไทย สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ท่ามกลางภาวะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างก็เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของตนเองอย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านราคายังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก แต่ราคาส่งออกยังคงต้องอิงกับตลาดโลก ซึ่งอาจผันผวนและส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน อาจจะต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสายการผลิต

LastUpdate 14/08/2557 12:10:24 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:05 am