เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองขยายตัว 0.3% ก่อนเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง


 

 
พิมพ์
altศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 0.3 ก่อนเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชน...พร้อมจับตารายงานสภาพัฒน์ฯ วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม ที่จะถึงนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีชะลอตัวลงมาพอสมควรจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนติดลบจากการที่ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย ภาคธุรกิจชะลอแผนลงทุนและการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐล่าช้า จนกระทั่งในช่วงกลางไตรมาสสอง ซี่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาปลดล็อกปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง
หลัง คสช. เข้ามาบริหารประเทศก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางออกมา เช่น การเร่งรัดการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว การตรึงราคาพลังงาน การจัดตั้งบอร์ด BOI รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสองได้ไม่มากนัก แต่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสองจะขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังปรับฤดูกาล) นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของไทยจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 0.2 อนึ่ง การขยายตัวในไตรมาสสองเป็นเพียงการขยายตัวทางเทคนิคเท่านั้น กล่าวคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้เล็กน้อยคือการหดตัวลงของการนำเข้า ซึ่งหดตัวลงถึงร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จึงส่งผลให้การส่งออกสุทธิของไทยในไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี เราคาดว่าการฟื้นตัวจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงที่จะเร่งตัวขึ้นจากการบริโภคและการลงทุน โดยได้รับอานิสงค์จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการดำเนินการตามกรอบของ คสช. อาทิ การจัดทำร่างงบประมาณปี 2558 และการอนุมัติกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่นานนี้ จะเป็นกลจักรสำคัญซึ่งช่วยผลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และนำไปสู่การกลับมาขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชน

สำหรับการบริโภคในภาคครัวเรือน ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง จากการศึกษาของเราพบว่า เมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา จะส่งผลให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ใช่ในทันที โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนก่อนที่การใช้จ่ายจะขยับตัวขึ้นตาม และต้องใช้เวลากว่า 1 ปีก่อนที่ผลกระทบจากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุด ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการบริโภคในภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

สัญญาณบวกจากการลงทุนและการบริโภคดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะพลิกฟื้นจากช่วงครึ่งปีแรก ควบคู่ไปกับการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้น โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งหลังจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 และทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 ตามประมาณการเดิม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ส.ค. 2557 เวลา : 18:49:46
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:41 am