ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในอาเซียน มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โต มีกำลังซื้อจากจำนวนประชากรที่น่าสนใจ หลังจากที่ประเทศมีการปฎิรูปและจัดการกับปัญหาการเมืองการปกครองได้แล้ว ประเทศอินโดนีเซียกำลังเร่งฐานะและบทบาทตนเองเป็นอย่างมากในเขตเศรษฐกิจย่านนี้ โดยเฉพาะบทบาทการเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่ม AEC
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า องค์กร PT Pemeringkat Efek Indonesia (Pefindo) ซึ่งปัจจุบันเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรของประเทศอินโดนีเซีย หรือที่เราเรียกว่า Credit Rating Agency นั้นได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต หรือที่เราเรียกกันในเชิงสากลว่า Credit Information Center แต่ถ้าจะเรียกกันในภาษาชาวบ้านที่เข้าใจกันทั่วไปนั้นก็คือเครดิตบูโร โดยจากรายงานข่าวที่ออกมานั้นเข้าใจว่าจะมีการใช้ชื่อสถาบันนี้ว่า Credit Information Management Bureau เพื่อให้บริการข้อมูล เครดิต หรือข้อมูลเครดิตบูโรของบุคคลธรรมดาแก่สถาบันการเงินในการอนุมัติปล่อยเงินกู้ การจัดตั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 2558
เรามาดูเป้าหมายและวิธีการตลอดจนแนวคิดของอินโดนีเซียในการจัดตั้งเครดิตบูโรของเขา ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่า ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงแล้ว พัฒนาการของเขาอาจก้าวล้ำนำหน้าเราไปในระยะยาวก็ได้ ข้อมูลมีดังนี้
1. เป้าหมาย : การจัดตั้งเครดิตบูโร จะช่วยให้สถาบันการเงินมีเครื่องมือในการปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันได้ตามความเสี่ยง (แยกแยะคนที่มาขอกู้ได้อย่างแม่นยำด้วยวิธีการทางสถิติ) โดยคนที่มีข้อมูลเครดิตดีซึ่งหมายถึงคนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีในช่วงเวลาที่กำหนดอาจจะได้ดอกเบี้ยต่ำขณะที่คนที่มีข้อมูลเครดิตแย่หรือไม่ค่อยดี ก็อาจจะถูกคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่า นอกจากนี้จากข้อมูลที่เปิดเผยผู้ก่อตั้งยังระบุว่า เครดิตบูโรจะช่วยป้องกันกลโกงของลูกหนี้ที่อาจจะกู้เงินจากหลายแหล่งในเวลาเดียวกัน เพราะข้อมูลของคนที่มาขอกู้นั้นจะมีการรวมศูนย์จากสถาบันการเงินทุกแห่ง จะเห็นว่าเขากำหนดเป้าหมายที่จะให้เครดิตบูโรช่วยทำให้คนที่ดี มีวินัย มีประวัติที่ดีเข้าถึงสินเชื่อ ต่างจากความเข้าใจผิดๆ ที่ยังต้องแก้ในบ้านของเราที่เข้าใจผิดว่าเครดิตบูโร เป็นอุปสรรคในการได้เงินกู้หรือสินเชื่อ
2. วิธีการ : สถาบันที่จะจัดตั้งนั้นจะมีหลักการทำงานแบบเดียวกับเครดิตบูโรในประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยจะให้บริการข้อมูลเครดิตหรือข้อมูลเครดิตบูโรของบุคคลธรรมดาแก่สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อและเพื่อป้องกันการเกิดNPL หรือ หนี้เสียนั่นเอง ที่สำคัญและแตกต่างจากบ้านเราคือของเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า คะแนนเครดิต หรือ ระบบการให้คะแนน ระบบการจัดเกรดลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่กำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ 1,000 คะแนน โดยจะนำข้อมูลการกู้เงินของผู้ที่เป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ ในประเทศมาประมวลเป็น คะแนน เป็นเกรดแยกเป็นเฉพาะบุคคลใครมีข้อมูลประวัติการชำระที่ดีก็จะสะท้อนเป็นคะแนนเครดิตที่สูง มีเกรดที่สูง โอกาสที่จะได้สินเชื่อก็มากตามไปด้วย เหมือนในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
(เรื่องนี้เมืองไทยเรามีความก้าวหน้ากว่ามาก มีการคิดการออกกฎหมายมารองรับมาตั้งแต่ปี 2551 มี
การกำหนดวางแผนในแผนแม่บททางการเงินฉบับที่ 2 ว่าให้เครดิตบูโรในประเทศไทยไปทำ ซึ่งเครดิต
บูโรก็ไปพัฒนาจนเสร็จแล้ว ยื่นเรื่องไปยังทางการเพื่อให้ออกเกณฑ์แล้วตั้งแต่ปลายปี 2554 ปัจจุบันแผนก็
ยังเป็นแผนคือ แพลนแล้วก็นิ่ง)
3. ความครอบคลุม : ท้ายที่สุดจากข่าวที่ออกมา Pefindo จะใช้เงินลงทุนตั้งเครดิตบูโรแห่งแรก
ของอินโดนีเซียประมาณเป็นเงินไทย 250 ล้านบาท และจะใช้แนวทางคล้ายประเทศไทยคือเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลและใช้ข้อมูลมาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น (น่าจะมีต่างชาติไม่เกิน 20%) ที่น่าสนใจคือผู้ก่อตั้งเขาจะเอาบริษัทโรงรับจำนำของรัฐ บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ สมาคมบริษัทการเงิน และบริษัทในเครือของเครดิตบูโรของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมโครงการด้วย เรียว่าจะเริ่มจาก Consumer banking จนลงไปถึงระดับ Micro Finance เลยทีเดียวครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น