"ซิตี้แบงก์" จัดทัพดูดนักลงทุน ใช้บริการบริหารความมั่งคั่ง พ่วงสิทธิประโยชน์ผ่านบัตรเครดิต หวังดันพอร์ตโตปีละ 20% แชร์ไอเดียลงทุน ดึงกูรูวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง เชียร์เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย-ยุโรป-ญี่ปุ่น-สหรัฐ
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้พยายามขยายตลาดบริการด้านบริหารความมั่งคั่ง หรือเวลธ์แมเนจเมนท์ในแบรนด์ “ซิตี้ โกลด์” ในตลาดประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้จัดเซ็กเมนต์ลูกค้าในกลุ่มนี้ใหม่พร้อมกับปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การจัดเซ็กเมนต์ลูกค้าใหม่นั้น ได้แบ่งเป็นกลุ่ม Elite ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป กลุ่ม Prefer มีมูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ 10-50 ล้านบาท และกลุ่ม Citi Gold มีมูลค่าเงินลงทุน 3-10 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าราว 30,000 ราย และเติบโตขึ้นปีละประมาณ 20% ทั้งในแง่จำนวนลูกค้าและมูลค่าพอร์ตลงทุน
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาใช้บริการนี้ ส่วนใหญ่จะมีความสนใจด้านการลงทุนที่กว้างกว่าในประเทศไทย ทำให้การจัดสรรสิทธิประโยชน์ใหม่นี้เราจึงเน้นไปที่บริการทางการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจจุดแข็งที่เราพยายามดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการทางการเงินกับเราเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้มีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงบริการแนะนำและให้มุมมองด้านการลงทุนด้วย” นางวีระอนงค์กล่าว
ด้าน นายฮาเรน ชาห์ ผู้อำนวยการและนักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโส บริการบริหารความมั่งคั่ง ซิตี้ เอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงให้มุมมองต่อการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการด้านบริหารความมั่งคั่งของซิตี้แบงก์ โดยสรุป 5 กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญคือ 1.) ให้น้ำหนักกับการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น เพื่อสอดรับกับจังหวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และอาจจะลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรลง
2.)โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นหลายแห่งยังมีความน่าสนใจ เช่น ประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และหุ้นบางกลุ่มในสหรัฐฯ ที่เข้าสู่วัฏจักรการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็เน้นว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากราคายังค่อนข้างถูกและน่าจะได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และกลุ่มสื่อสารที่รายได้ยังมีโอกาสเติบโตที่ดีในระยะ 3 ปีข้างหน้า
3.) เตรียมปรับพอร์ตลงทุนรับกับภาวะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่เริ่มจะเพิ่มขึ้น หรือหมายถึง ราคาพันธบัตรที่จะลดลง เนื่องจากมีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า หลังจากยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ได้หมดสิ้นในเดือนตุลาคมนี้ 4.) สามารถกลับเข้ามาลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ได้อีกครั้ง โดยควรเน้นลงทุนในกลุ่มที่เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์
“และ กลยุทธ์ข้อ 5.) ขอให้อดทน และเดินหน้าลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งควรเป็นการลงทุนระยะยาวและกระจายความเสี่ยงออกไปลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ แบบ หลายๆ ตลาด ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้สินทรัพย์การลงทุนของเราเติบโตได้ดีในระยะต่อไป สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก” นายฮาเรน กล่าว
ข่าวเด่น