การตลาด
สกู๊ป "เถ้าแก่น้อย" จัดทัพหลังบ้าน ย้ำแผน 10 ปี นั่ง "โกลบอลแบรนด์"


 

หลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ต๊อบคอร์น”  (Tob Corn) ร้านจำหน่ายข้าวโพดคั่วสดพรีเมี่ยม ภายใต้แนวคิด “Popcorn Beyond Imagination by ToB”  เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี เนื่องจากมียอดขายสูงเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจมาจากคุณภาพที่ดีของวัตถุดิบ กระบวนการคั่วสด และรสชาติที่ดีแปลกใหม่ด้วยสูตรเฉพาะของเถ้าแก่น้อย

จากผลการตอบรับดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน ร้าน ต๊อบคอร์น มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 3 สาขา ประกอบด้วย   ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ,ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน (S1) และศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ นอกจากนี้ ยังได้เปิดขายในส่วนของเคาน์เตอร์ Take Home ในเดอะ มอลล์ สาขาบางกะปิ และสาขางามวงศ์วาน
 

 
 
ล่าสุด บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาต่อยอดความสำเร็จจากร้านต๊อบคอร์น สู่ข้าวโพดคั่วแบบซอง “เถ้าแก่ป๊อป” ภายใต้กลยุทธ์ Brand Synergy  การผนึกกำลังของแบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่างเถ้าแก่น้อย และสูตรเด็ดเคล็ดลับความอร่อยของต๊อบคอร์น เพื่อพัฒนาสู่ “เถ้าแก่ป๊อป”  ป๊อปคอร์น Segment ใหม่ พรีเมี่ยมอีโคโนมี่ แต่คุณภาพพรีเมี่ยมจำนวน  2 รส ได้แก่ เถ้าแก่ป๊อป รสคาราเมล , รสคาราเมลเชดด้าชีส  จำหน่ายในราคา 20 บาท

สำหรับช่องทางการทำตลาดเบื้องต้น บริษัท เถ้าแก่น้อย จะทำการทดลองสินค้าเถ้าแก่ป๊อป ด้วยการวางสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศก่อนเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นประมาณเดือน พ.ย.2557 จะเริ่มกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น บิ๊กซี , เทสโก้ โลตัส  และ 108 Shop  รวมไปถึงร้านค้าปลีกทั่วไปหรือเทรดดิชั่นนอลเทรด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้สะดวกทั่วถึง นอกจากนี้บริษัท เถ้าแก่น้อย ยังมีแผนขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังจุดจำหน่ายต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถหาซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
 

 
 
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ในด้านของกลยุทธ์การทำตลาด บริษัทเตรียมทำตลาดแบบ 360 องศา ผ่านกลยุทธ์การตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยออฟไลน์ เป็นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ “เถ้าแก่ป๊อป”  ส่วนออนไลน์ เป็นการใช้กลยุทธ์ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างแบรนด์ และกระตุ้นให้เกิดการทดลองชิมโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเถ้าแก่ป๊อป โดยการจัดกิจกรรมผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค จะเปิดโอกาสให้แฟนเพจได้เกาะติดความเคลื่อนไหวของเถ้าแก่ป๊อป โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมียอดขาย 100 ล้านบาท แบ่งออกเป็นยอดขายในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% 

หลังจากวางสินค้าเถ้าแก่ป๊อปเข้าทำตลาดครบ 1 ปีแรก บริษัท เถ้าแก่น้อย มั่นใจว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 15-20% ในตลาดรวมข้าวโพดคั่วแบบซอง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดข้าวโพดคั่วในโรงภาพยนตร์มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,000  ล้านบาท และจากการที่ประเทศไทยเริ่มมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาด ส่งผลให้ตลาดรวมข้าวโพดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 30%  และปีนี้ก็เช่นกัน

นายอิทธิพันธ์ กล่าวว่า การที่บริษัทหันมาทำตลาดข้าวโพดคั่วแบบซองเข้ามาทำตลาด เพราะเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) เห็นได้จากช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาตลาดรวมข้าวโพดคั่วแบบซองมีอัตราการเติบโตสูงถึง 44% และสิ้นปีคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 30% ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับตลาดรวมขนมขบเคี้ยวที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 1%

จากการออกมาเปิดตัวกลุ่มสินค้าข้าวโพดคั่วแบบซองเถ้าแก่ป๊อปเข้าทำตลาด ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) มีผลิตภัณฑ์สินค้าเข้าทำตลาดแล้ว 2 กลุ่มสินค้า คือ กลุ่มสินค้าสแน็ค เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย และข้าวโพดคั่วสดพรีเมี่ยม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริ้ง ภายใต้แบรนด์ ไวตามิก เข้าทำตลาด และในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 2 กลุ่มเข้าทำตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งนับจากนี้จะดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด sea to farm หรือการทำธุรกิจในกลุ่มสินค้าใต้ท้องทะเลและสินค้าเกษตร

นายอิทธิพันธ์  กล่าวว่า ในอีก 2-3 ปีนับจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะใช้งบลงทุนอีกประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะขยายการส่งออกสินค้าไปทั่วโลกให้ครบ 100 ประเทศในอีก 10 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันทำได้แล้วประมาณ 30 ประเทศ เพื่อให้เถ้าแก่น้อยเป็นสินค้าโกลบอลแบรนด์ จากปัจจุบันสามารถนำสินค้าก้าวเข้าสู่การเป็นเอเชียแบรนด์ได้สำเร็จ
 

 
 
ทั้งนี้ หลังจากบริษัท เถ้าแก่น้อย ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแล้วเสร็จ จะส่งผลให้มีกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตสินค้าที่โรงงานในจังหวัดปทุมธานีคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกำลังการผลิตสาหร่ายเถ้าแก่น้อย

อย่างไรก็ดี ก่อนที่บริษัท เถ้าแก่น้อยจะใช้งบก้อนโตลงทุนโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตภายในโรงงานในจังหวัดปทุมธานีมากอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ใช้งบ 50 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากเปิดตัวธุรกิจต๊อบคอร์น ร้านจำหน่ายข้าวโพดคั่วสด ต่อมากลางปีได้ใช้งบอีก 50 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิตเถ้าแก่ป๊อป ขนมขบเคี้ยวกลุ่มข้าวโพดคั่วแบบซอง

นอกจากนี้ บริษัท เถ้าแก่น้อย ยังมีความสนใจที่จะไปเปิดโรงงานในต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่มีโอกาสและความเป็นไปได้คือ อินโดนีเซีย จีน พม่า ซึ่งในแต่ละประเทศต้องมียอดขายตั้งแต่ 300-500 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะพิจารณาการลงทุนเข้าไปเปิดโรงงาน โดยนับจากนี้คาดว่าไม่เกิน 3 ปีมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการสร้างโรงงานในต่างประเทศ

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท เถ้าแก่น้อย ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามียอดขายค่อนข้างชะลอตัว ส่งผลให้ภาพรวมสิ้นปีนี้มีรายได้เพียง 2,800 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 10% ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้บริษัท เถ้าแก่น้อย ต้องเลื่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นปี 2558

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้แต่บริษัท เถ้าแก่น้อย ก็มั่นใจว่าอีก 2-3 ปีนับจากนี้จะมีรายได้ที่ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 50%  ต่างประเทศ 50%  จากปัจจุบันมีรายได้จากต่างประเทศ 40%  และอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท  นั่งโกลบอลแบรนด์ได้สำเร็จ ด้วยการส่งออกสินค้าไปทำตลาดทั่วโลกประมาณ 100 ประเทศ จากปัจจุบันสามารถส่งออกสินค้าเข้าไปทำตลาดทั่วโลกได้แล้วประมาณ 30 ประเทศ ซึ่งในส่วนของเอเชีย ตอนนี้เหลือประเทศญี่ปุ่นกับเกาหลีที่ยังไม่ได้เข้าไปทำตลาด

 

ดูจากแผนนั่งโกลบอลแบรนด์ของเถ้าแก่น้อยที่ประกาศออกมา ประกอบกับปี 2558 จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การนั่ง "โกลบอลแบรนด์" คงไม่ไกลเกินฝันที่เถ้าแก่น้อยจะทำได้ เนื่องจากปัจจุบัน เถ้าแก่น้อย สามารถนั่งแท่นการเป็นเอเชียแบรนด์ได้สำเร็จเป้นที่เรียบร้อยแล้ว

 


 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2557 เวลา : 21:53:28
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 7:19 am