กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้ากระตุ้นอุตสาหกรรมและช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายด้าน ทั้งวิศวกรรม อาหาร เกษตรแปรรูปและด้านเครื่องนุ่งห่มและแฟชั่น เตรียมจัด “บางกอก แฟชั่น อเวนิว 2014” บนถนน 5 เส้นช่วงเดือน ก.ย. หวังดันกรุงเทพฯ "ศูนย์กลางแฟชั่น" พร้อมเล็งเปิดโครงการ "DIP STAR" ปีงบประมาณ 58 เลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ช่วยเหลือพัฒนาให้เติบโตอย่างจริงจัง ประเดิมกลุ่มแรกประมาณ 1 พันราย
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังแถลงเตรียมจัดงาน "Thailand Industry Expo 2014" ภายใต้แนวคิด “ซื้อของไทย ใช้ของดี SMEs ยั่งยืน คืนความสุขให้ประชาชน” ระหว่างวันที่ 26-31 สิงหาคม ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในโอกาสครบรอบ 72 ปีกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า กรมฯได้พยายามส่งเสริม กระตุ้นอุตสาหกรรมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึง SMEs อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเครื่องนุ่งห่ม ด้านวิศวกรรม อาหาร และด้านเกษตรแปรรูป
ในด้านเครื่องนุ่งห่ม กรมฯเข้าไปช่วยส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การอบรม พร้อมทั้งทำกิจกรรมส่งเสริมย่านการค้าธุรกิจแฟชั่น เพื่อทำให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์แฟชั่น เรียกว่างาน "บางกอก แฟชั่น อเวนิว 2014" (Bangkok Fashion Avenue 2014 )โดยจะจัดขึ้นใน 5 ย่าน เริ่มที่จตุจักร ถนนข้าวสาร ประตูน้ำ สุขุมวิทและสยามสแคว์ ในช่วงเดือนกันยายน โดยมีการจัดแฟชั่นโชว์ของเหล่าผู้ประกอบการที่อยู่ในย่านนั้น และให้นักออกแบบที่กรมฯพัฒนาไปร่วมเดินด้วย จัดเวิร์กช็อปให้ความรู้ในการทำธุรกิจและส่งเสริมการขาย ประชาชนที่ไปเที่ยวงานจะได้ทั้งความบันเทิงและจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้ประกอบการในแต่ละย่าน ส่วนด้านอาหาร มีการส่งเสริมการวิจัยอาหารสุขภาพ การทำเกษตรอินทรีย์ ด้านเกษตรแปรรูปเวลานี้จะเน้นที่การแปรรูปยางพาราในภาพรวม การหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการ ให้ใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้น
เวลานี้ทางกรมฯยังกำลังจะทำโครงการ "DIP STAR" ในปีงบประมาณ 2558 ในเดือนตุลาคมนี้ ด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่า การจะพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ถ้าหากไม่พัฒนาต่อเนื่อง บางทีก็ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้วย จึงมองว่าน่าจะคัดเลือกผู้ประกอบการมาสักกลุ่มหนึ่งที่มองดูว่ามีศักยภาพและให้โอกาสที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยวินิจฉัยว่าเขาต้องการความช่วยเหลือด้านไหนบ้าง มีจุดอ่อนอย่างไรบ้างที่ต้องการพัฒนา
“เดิมเราจะกังวลเรื่องการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อน ในปีหนึ่งไม่อยากให้ซ้ำกัน แต่บางรายมีความจำเป็นเราอาจให้ความช่วยเหลือหลายกิจกรรมหรือหลายโครงการติดต่อกันได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพื่อจะได้เร่งพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเหตุผลจริงจังมากขึ้น โดยความช่วยเหลือจะเน้นภาคการผลิต ไม่ใช่ภาคบริการหรือส่งออก แต่มีหลายรายที่ช่วยเหลือให้ส่งออกได้ด้วย”อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะได้รับการคัดเลือกคือ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไป มีสินค้าที่มีความโดดเด่นและมีความตั้งใจในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกำลังพิจารณากลุ่มแรกที่ประมาณ 1,000 ราย
ข่าวเด่น