นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฟินันซ่า จำกัด (บลจ.ฟินันซ่า) เสนอกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน อัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.70%
บลจ.ฟินันซ่าประเมินว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ในวันที่ 24 สิงหาคม และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจำนวน 32 คน ในวันที่ 30 สิงหาคมแล้ว ทิศทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับการจัดงาน Thailand Focus 2014 โดยมีผู้แทนจาก คสช.กล่าวเปิดงานพร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงในตลาดเงินตลาดทุนภาครัฐ และบริษัทจดทะเบียนกว่า 100 รายมาให้ข้อมูล ซึ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำหรับเดือนกรกฎาคม ของ ธปท. โดยรวมยังคงทรงตัวจากเดือนก่อน อุปสงค์ในประเทศขยายตัวตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รายได้นอกภาคเกษตรยังสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารและพลังงาน แต่การส่งออกยังฟื้นตัวช้า และภาคการผลิตยังทรงตัวเนื่องจากอยู่ในช่วงระบายสินค้าคงคลัง ด้านปัจจัยภายนอกประเทศยังไม่ดีนัก จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้น การเจรจาระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองไม่บรรลุข้อตกลงใดๆ นอกจากนี้ยังมีทหารรัสเซียรุกรานเข้ามาหนุนหลังกลุ่มกบฏ แม้ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศจะมีแนวโน้มเชิงบวก แต่การลงทุนมีความเสี่ยง บลจ.ฟินันซ่า จึงแนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุน โดยนอกเหนือจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่น หุ้น ทองคำ หรือน้ำมันแล้ว ควรแบ่งเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนด้วย
บลจ.ฟินันซ่า จึงเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตรา สารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน7 (FAM FIPR3M7) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.70% เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 3 – 10 กันยายน 2557 เป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนใน ตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ข่าวเด่น