การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
การประชุมศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



 

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมบูรณาการป้องกันปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธการ “พิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดินสู่ความยั่งยืน ขั้นที่ 1” ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยรับผิดชอบหลัก พล.ท.คณิต อุทิตสาร ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 26 หน่วยงาน ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติแผนแม่บทฯ นี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก และได้ทราบถึงสถานการณ์ที่มีความวิกฤติอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อ 70 ปีที่แล้ว พื้นป่าของประเทศไทยมีอยู่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ร้อยละ 30 เท่านั้น โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ว่า ประเทศไทยสมควรที่ต้องมีป่าไม้ไว้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศไว้ให้ได้  ดังนั้น แผนแม่บทฯ ดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดจุดประสงค์ว่า ประเทศไทยต้องมีและรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป


ในแผนแม่บทฯ ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้ 3 ข้อ คือ 1) การป้องกันและปราบปราม ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเป็นการปฏิบัติขั้นเด็ดขาด เพราะหากไม่ใช้มาตรการนี้จะไม่สามารถหยุดขบวนการลักลอบเหล่านี้ได้   2) การแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการภายในของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้การแก้ไขการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกที่สาธารณะขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่บัดนี้ โดยจะใช้เวลา 2 ปี และ 3) การจัดการในระยะยาว จะมีการฟื้นฟูและการจัดระบบโซนนิ่ง โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม ทั้งนี้ ภารกิจในเรื่องนี้ยังเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีกรมหลักอยู่ 3 กรม คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยทั้ง 3 กรม ยังเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติภารกิจนี้อยู่  ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กองทัพบก (ทบ.) กองทัพเรือ (ทร.) และกองทัพอากาศ (ทอ.) พร้อมทั้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเป็นหน่วยงานเสริมการปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่าวิกฤติอย่างยิ่ง โดยกระทรวงทรัพย์ฯ เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตได้ทันท่วงที  จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติให้ได้


ทั้งนี้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวอีกว่า ในส่วนของ ตร.ได้มีการดำเนินการออกแผนรองรับแผนแม่บทฯ โดยได้กำหนดเป็นยุทธการพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2557 - 21 กุมภาพันธ์ 2558  ซึ่งนัยยะของ 6 เดือนนี้ คือ ให้ทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบของ สตช. สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจะมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้ คือ กฎหมายการฟอกเงิน การยึดทรัพย์ รวมถึงกฎหมายภาษีและสรรพากรมาใช้ด้วย” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าว

   


LastUpdate 11/09/2557 01:31:29 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 2:18 am