เมื่อผมได้อ่านบทความ ของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตนายธนาคารท่านหนึ่งที่ระบุว่า จากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศระบุในความตอนหนึ่งว่า ธนาคารกลางของสหรัฐนั้นสามารถชี้นำนโยบายการเงินของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยสภาพคล่อง และการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก เพราะว่าขนาดของระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินของประเทศเขานั้นอยู่ในฐานะที่จะดลบันดาลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกขึ้นหรือลง จะทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจากภูมิภาคหนึ่งไปอีกภูมิภาคหนึ่งได้อย่างใจฝัน แล้วประเทศเล็กๆ ที่ไม่สามารถชี้นำทิศทางเศรษฐกิจการเงินของโลกแบบเรา แต่มีความสุขเมื่อเงินจากต่างประเทศไหลเข้า ราคาสินทรัพย์ทางการก็เงินเพิ่ม ในยามที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกลดลงนั้น ประเทศเล็กๆ แบบไทยเรานั้น นักธุรกิจไทยเรานั้น ควรจะหันมามองเรื่องของความเสี่ยงที่จะเกิดการพลิกผัน หรือโอกาสที่จะเกิดการพลิกผันเมื่อไรก็ได้บ้างเลยหรือว่า เพราะเมื่อมันไหลเข้ามาเพราะนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจเปลี่ยนแปลงมันก็อาจไหลออกไปเพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายเช่นกัน
ที่ผู้เขียนชอบมากและต้องขอความกรุณานำมาขยายผลต่อก็คือ ข้อคิด ข้อเขียนของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต หรือท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ที่ท่านอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตนายธนาคารได้คัดมาเผยแพร่ให้เกิดสติว่า
"สังคมไทยให้ความสำคัญกับปัญญาน้อยอย่างยิ่ง แทบจะพูดได้เลยว่า เป็นสังคมที่ไม่นิยมปัญญา เอาแต่ผลประโยชน์นิยมแต่เงินอยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงและนำไม่สำเร็จ อย่ามัวภูมิใจกับเศรษฐกิจกลวงในเศรษฐกิจขายทุนเก่าเศรษฐกิจตามกระแสที่พลอยฟู่ฟ่าไปตามสถานการณ์ โดยไม่มีความสามารถอยู่ในตัวเอง"
ในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันที่เราทุกฝ่ายอยากจะทำให้เกิดได้จริงๆ นั้นเมื่อ World Economic Forum-WEF ได้ระบุข้อมูลใน รายงานประจำปีการเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศต่างๆ ที่เลือกมาศึกษารวม 144 ประเทศ รายงานนี้ ชื่อว่า Global Competitiveness Report 2014-2015 มีความยาว 548 หน้า ผลโดยสรุปปรากฏว่าขีดความสามารถในการแข่งขันได้ของไทยอยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลัง สิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 แต่เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นคือ ถ้าไปดูดัชนีด้านการศึกษาแล้ว ใครต่อใครที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องวิตกเป็นอย่างยิ่งว่า อนาคตของประเทศเราจะเป็นเช่นไร เหตุเพราะ จากรายงานระบุว่า
• คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน
• คุณภาพของระบบอุดมศึกษา อยู่ที่อันดับ 8 ของอาเซียน
• ความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ อยู่ที่อันดับ 5 ของอาเซียน
• ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (GDP per Capita)ต่อหัวต่อปีของไทยเราเป็นที่ 3 ของอาเซียน แต่ที่ไม่ตลก
คือประเทศที่ยากจนกว่าเราสามารถจัดการศึกษาได้ดีกว่า เพราะในรายงานประเมินระบุว่า การศึกษาพื้นฐานและอุดมศึกษาของไทย อยู่อันดับต่ำกว่าลาว ขณะที่คุณภาพของระบบอุดมศึกษา เราก็แพ้ทั้งลาวและกัมพูชา
สิ่งที่เราทั้งหมดต้องรีบดำเนินการไม่ใช่ออกมาบอกว่าเขาประเมินไม่เป็น เขาประเมินไม่ถูก หากแต่เราต้องทุ่มเทกำลังลงไป หยุดโทษกันเอง ก็เพื่อให้เรา ลูกหลานเรา ประเทศอันเป็นที่รักเรา หลุดพ้นจากคำที่เขาทั้งหลายจะบอกว่า เราคือคนป่วยของอาเซียน ที่ชอบทะเลาะกันเองโดยยังไม่รู้ตัวเองว่า ในร่างกายของตัวเรานั้นต้องการการเยียวยาและฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแกร่งให้ได้อีกครั้ง เพราะเมื่อโลกพลิกผันจากในปัจจุบัน เราจะต้องอยู่ให้รอด.....
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น