มั่นคงฯ จัดโครงการ MK Young Creative Design Contest 2014 : Universal Design ภายใต้แนวคิด “สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึงและเท่าเทียม” หวังเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบ “อารยสถาปัตย์”
?
นางสาวชุติมา ตั้งมติธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดประกวดออกแบบบ้านเพื่อทุกคนในครอบครัว หรืออารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในโครงการ MK Young Creative Design Contest 2014 ภายใต้แนวคิด “สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึงและเท่าเทียม” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ร่วมประชันไอเดีย แสดงออกทางความคิดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 11 บริษัทจึงต้องการที่จะจุดประกายแนวคิด นักออกแบบรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจงานออกแบบทางด้านอารยสถาปัตย์
การออกแบบบ้านจะต้องคำนึงถึงความสวยงาม สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองทุกช่วงชีวิตของทุกคนในครอบครัว เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวร่วมจากทุกภาคส่วน สู่การเดินหน้าในการพัฒนาอารยสถาปัตย์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นการออกแบบบ้านพักอาศัยสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนแอที่สุดในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เป็นการออกแบบโดยการคำนึงถึงสมาชิกทุกคน และในทุกช่วงวัย ซึ่งการประกวดมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในงานออกแบบ
ปีนี้มีนักออกแบบรุ่นใหม่ส่งผลงานการประกวดเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีผลงานผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 10 ผลงาน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายภาณุพงศ์ สิทธิวงษ์ สถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง จาก จ.อุดรธานี กับผลงานที่มีชื่อว่า “บ้านรักษา” ได้รับเงินทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัลเกียรติยศ
ผลงาน “บ้านรักษา” มีแนวคิดในการออกแบบโดยมีองค์ประกอบที่มีส่วนสนับสนุน ฟื้นฟู ศักยภาพของผู้อยู่อาศัย ดังนั้นจึงออกแบบสถาปัตยกรรมให้รองรับประเภทของผู้อยู่อาศัย โดยไม่ให้รู้สึกถึงการถูกแบ่งแยกของการใช้งาน สามารถใช้ร่วมกันได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมกำลังใจ (ความอุ่นใจ) และทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่อยู่อาศัยทุกประเภท และที่สำคัญยังสามารถสื่อสารกับผู้ที่อยู่อาศัยได้ดีอีกด้วย เพราะมนุษย์สามารถสื่อสารกับที่ว่างและสภาพแวดล้อม ผ่านเครื่องรับส่ง 6 อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารดังกล่าวขาดหายไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การออกแบบอารยสถาปัตย์จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อเป็นส่วนเติมเต็ม และส่งเสริมส่วนที่หายไปของผู้ใช้ได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบ โดยเริ่มจากการศึกษาเครื่องรับส่งของมนุษย์ที่มีอยู่และในกรณีที่ขาดหายไป และศึกษาสิ่งที่จะมาเติมเต็ม จนออกมาเป็น Function ที่มีองค์ประกอบการออกแบบที่ช่วยเหลือประสาทสัมผัสต่าง ๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพราะ “บ้านคือสถานที่ที่เติมความสุขให้กับชีวิต”
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิสิตร์ สายเนตร คณะสถาปัตยกรรม ปี 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานที่มีชื่อว่า “บ้านของเรา” ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัลเกียรติยศ โดยผลงาน “บ้านของเรา” มีแนวคิดในการออกแบบมาจากความเชื่อ วิถีชีวิต และสังคมที่เปลี่ยนไปของชาวชนบทที่ต้องย้ายเข้ามาทำงานในเมืองกรุง นำไปสู่การวิเคราะห์และออกแบบอารยสถาปัตย์ที่สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมทั้งสอดประสานความเชื่อ วิถีชีวิตและสังคมแบบดั้งเดิมของคนในชนบท นำสู่การออกแบบ "อารยสถาปัตย์แบบไทยๆ"
โดยมี Concept Design ในการออกแบบที่เน้นกิจกรรมของคนในบ้าน เพราะบ้านที่ดีนั้นควรจะทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความสุข ได้พบปะพูดคุย และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น ผู้ออกแบบทำได้เพียงแค่ออกแบบพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรม ซึ่งนำไปสู่ความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของคนในบ้าน
รางวัลชมเชย ได้แก่ นายสุทธิพร เติมกล้า คณะสถาปัตยกรรม ปี 4 และ นางสาววิชญาดา เมฆหิรัญศิริ คณะสถาปัตยกรรม ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานที่มีชื่อว่า “Growing Together” ได้รับทุนการศึกษา 15,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
ผลงาน “Growing Together” มีแนวคิดในการออกแบบคือ “Have Step No Stairs” อย่างเป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม จากแนวคิดอารยสถาปัตย์ดังกล่าว ทำให้บ้านหลังนี้ไม่มีบันได กล่าวคือ เป็นพื้นที่คนปกติ มนุษย์ล้อ หรือคนตาบอดสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงกำหนดให้ “ทางลาด” เป็นตัวแปรควบคุม และใช้ทฤษฎี “การรับรู้ที่ว่าง” (Sensory Spaces) 6 อย่างมาช่วยสร้างการรับรู้ถึงที่ว่างให้ปรากฏออกมาในสถาปัตยกรรม เนื่องจากคนในบ้านมีความแตกต่างกันในการรับรู้
โดยให้ “ทางลาด” ล้อมรอบพื้นที่ใช้สอยในบ้านไว้และสอดแทรกพื้นที่สวนต้นไม้และส่วนของชั้นหนังสือบนชานพัก สัมพันธ์กับที่ตั้งมีมุมมองภายนอกไม่ดีมากนักจึงเน้นการสร้างบรรยากาศในบ้านเป็นหลัก จึงเกิด”ปฏิสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างและเวลา” ให้เกิดขึ้นมากที่สุดบนทางลาดและภายในบ้าน คนที่ขึ้นทางลาดสามารถเห็นคนในบ้านและคนในบ้านสามารถเห็นเห็นคนบนทางลาดด้วย ทำให้บ้านหลังนี้เกิดเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างทางลาดและคน,คนและบ้าน ส่งผลให้ทางลาดไม่โดดเดี่ยวและถูกมองข้ามอีกต่อไป
ข่าวเด่น